The Translator
and Interpreter
Association of Thailand
สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย
รามเกียรติ์ คลังภูมิปัญญาสยาม
ตอนที่ ๗ นางสีดาผู้อาภัพ
ครูหนอนฯ
หลังเสวยข้าวปั้นที่นางกากนาสูรคาบจากอยุธยามาถวาย นางมณโฑก็ทรงครรภ์เช่นเดียวกับสามมเหสีท้าวทศรถ ครั้นถ้วนทศมาสก็ประสูติบุตรีรูปงาม ท่านสิบปากสั่งนางกำนัลไปตามพิเภกกับเหล่าโหรมาดูดวงชะตา พอมาถึง น้องท่านสิบหัวสอบกับชะตาพญายักษ์และดวงกรุงลงกา เห็นว่าเป็นกาลกิณี หากขืนเลี้ยงไว้ ลงกาจะกลายเป็นเถ้า เลือดจะท่วมเมือง จึงทูลความพร้อมเสนอให้นำไปทิ้งน้ำ
นางมณโฑได้ฟังแทบคลั่งตาย และพ้อทศกัณฐ์ว่า “พิเภกนี้อาธรรม์มาเสกสรรใส่ไคล้ หากลูกเป็นกาลกิณี แม่จะดีอย่างไรได้ อย่ากระนั้นเลย จงเร่งฆ่าเมียกับลูกเดี๋ยวนี้เถิด” พลางสะอื้นฮัก ๆ
ท่านสิบพักตร์ผู้รักเมียปลอบประโลมว่า “หากเจ้าสงสัยอนุชา พี่จะให้บรรดาโหราสอบดูให้หายแคลงใจ” เหล่าปุโรหิตรับบัญชาตรวจดวงชะตา ผลที่ได้ตรงกับคำทูลของพิเภกทุกประการ ทศเศียรจึงจำใจสั่งน้องชายจัดการตามเห็นควร แล้วลูกสาวของนางมณโฑก็ถูกนำใส่ผอบไปทิ้งแม่น้ำวัลวา เดชะบุญเกิดมีดอกบัวใหญ่เท่ากงจักรรับผอบไว้ ฝ่ายนางเมขลากับหมู่เทวาเห็นก็ตระหนกตกใจ รีบไปช่วยกันดูแลนาง กระทั่งผอบลอยถึงแม่น้ำเนรัญชรไปติดอยู่ที่ท่าพระมุนี
รุ่งขึ้นถึงเวลาตามกิจวัตรประจำวัน พระชนกฤๅษีไปลงสรงที่ท่า เห็นผอบงามอยู่บนปทุมาก็ว่ายน้ำไปเก็บ พอมาถึงฝั่ง เปิดออกเห็นหนูน้อยงดงามหมดจด ดาบสรำพึงว่า “คงเป็นหน่อกษัตริย์ที่บ้านเมืองถึงคราวิบัติ จึงจำต้องนำนางใส่ผอบทิ้งน้ำ กูเองก็ไร้โอรสธิดา จะเลี้ยงนางไว้เป็นบุตรบุญธรรม” แล้วตั้งสัจจาธิษฐาน
เดชะวาสนาเยาวมาลย์ จะเป็นแก่นสารไปภายหน้า
ให้นิ้วชี้เรามีศักดา เกิดเป็นธาราประโยธร ฯ
บัดเดี๋ยวนิ้วเป็นน้ำนม มีความชื่นชมสโมสร
ก็ให้องค์อัครราชบังอร ดูดกรต่างถันธารา
เวลาอ่านเจอคำยาก ๆ ในวรรณคดี อย่างคำว่า “ประโยธร” ที่คัดมาข้างต้น ไม่ต้องใจร้อนไปเปิดพจนานุกรม อ่านต่อในบทถัดมาก็พอแปลได้เลา ๆ ว่าน้ำนมหรือเต้านม ทว่าครูหนอนฯ จะมาอธิบายพุ่ง ๆ สุ่ม ๆ ไม่ได้ เพราะศิษยานุศิษย์ยกย่องให้เป็นครู จึงต้องไปเปิดหาความหมายที่แน่ชัด แต่ไม่เจอฮิ นั่งนึกอยู่หนึ่งอึดใจก็เอะใจว่าคำนี้คงมาจากภาษาบาลี เช่นเดียวกับคำว่าประโยชน์ที่บาลีเขียนว่าปโยชน จึงเปิดดูคำว่าปโยธร ได้ความหมายว่า น. “ผู้ทรงไว้ซึ่งนํ้า” คือ เมฆ, “ผู้ทรงไว้ซึ่งนํ้านม” คือ ถัน.
จากนั้นท้าวชนกพาหนูน้อยกลับมาอยู่ด้วยที่กุฎี ให้นายโสมโยมอุปฐากเป็นพี่เลี้ยง คอยอาบน้ำป้อนข้าว กล่อมนอนขลุกขลุ่ยอยู่ในศาลา กระทั่งมาวันหนึ่ง พระฤๅษีตรึกตรองว่าตนเป็นกษัตริย์สละสมบัติมาบวช แต่ยังไม่ได้ฌานสมคิด จะกลับเข้าพาราก็อายไพร่ฟ้า จะบำเพ็ญเพียรต่อก็ติดที่ต้องเลี้ยงดูพระธิดา อย่ากระนั้นเลย จะนำนางไปฝังไว้ในป่า ฝากหมู่เทพไทให้ช่วยเลี้ยงดูท่าจะดี เหตุการณ์ตอนนี้สะกิดใจให้คิดถึงคำว่าฝากฝัง (ความหมายตามพจนานุกรมว่า ก. มอบหมายให้ช่วยอุปการะ.) ว่ามีที่มาจากตอนนี้หรือเปล่านิ)
พอนายโสมขุดหลุมเสร็จตามสั่ง พระมุนีตั้งสัตยาวาทีอีกครั้งว่าถ้านางมีบุญจะได้ร่วมเศวตรฉัตรองค์จักรพรรดิ ขอบันดาลบัวทิพย์มารองรับ ครั้นเห็นสมคำอธิษฐานก็นำนางใส่ผอบวางในปทุมมาลย์ สั่งนายโสมกลบหลุมเกลี่ยดินให้เรียบดี แล้วพากันกลับกุฎี ฝ่ายฝูงเทพกับอัปสรก็มาตามคำฝากฝัง เฝ้าถนอมเลี้ยงกระทั่งนางอายุ ๑๖ ปี นางจึงโตมาโดยไม่เคยสัมผัสอ้อมกอดพ่อแม่
กล่าวฝ่ายอยุธยา ครั้นสี่พระโอรสอายุ ๑๔ ปี ท้าวทศรถก็ตรัสสั่งให้ไปเรียนวิชากับพระอาจารย์ตามธรรมเนียมหน่อกษัตริย์ (ตรงนี้ต่างจากฝ่ายยักษ์ที่เล่าในตอนก่อน ๆ ซึ่งลูกเป็นฝ่ายมาทูลขอพ่อแม่ไปเรียนเองฮิ) สี่พี่น้องจึงเดินทางไปเรียนศิลป์ศรกับพระวสิษฐ์และพระสวามิตรฤๅษี พอเรียนรู้แม่นยำชำนาญ สองพระอาจารย์ก็ดำริจะชุบศรให้ โดยตั้งพิธีกาลากิจก่อกองกูณฑ์ เพลิงในพิธีบันดาลให้พระอิศวรเร่าร้อนฤๅทัย เล็งทิพเนตรเห็นพิธีชุบศิลป์ชัยให้นารายณ์อวตาร จึงร่ายเวทเสกศร ๑๒ คัน โยนให้ในกองอัคคี แล้วอาจารย์ก็พาศิษย์กลับเข้ากรุงอยุธยาไปทำพิธีลองศร โดยพระรามพี่ใหญ่ลองก่อน
ฟ้าแลบไม่ทันสิ้นแสง ศรสามเล่มแผลงไปได้หมด
พรหมมาสตร์ไปชั้นโสฬส เร็วดั่งจักรกรดสุรกานต์
อันอัคนิวาตฤทธิรอน เป็นดวงทินกรฉายฉาน
พลายวาตไปเขาจักรวาล ลงสู่บาดาลแล้วกลับมา ฯ
ที่คัดกลอน ๔ คำกลอนนี้มา นอกจากช่วยให้รู้ชื่อศรของพระราม ยังมีทีเด็ดตรงคำกลอนแรกที่ใช้กวีโวหารได้เห็นภาพพจน์ ซึ่งอาจเป็นที่มาของสำนวนเร็วกว่าสายฟ้าแลบ ผู้อยากแต่งกลอน “เป็น” พึงศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ นี่คืออีกหนึ่งกลเม็ดเคล็ดกลอน
จากนั้นน้อง ๆ ทั้งสามก็ลองศรคนละ ๓ เล่มตามลำดับอาวุโส ไล่เรียงจากพระพรต พระลักษมณ์ ถึงพระสัตรุด ตรงนี้กลอนไม่ได้กล่าวถึงชื่อศร แต่จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ไม่สำคัญ ที่สำคัญกว่านั้น จากที่พลิก ๆ สารบัญดู บางครั้งกวีก็เผลอให้พระรามแผลงศรพาลจันทร์ของพระลักษมณ์ หรือชื่อศรที่พระพรตใช้ทั้งหมดนั้น นับรวมได้ ๔ เล่ม คุณครูจึงไม่ควรนำเรื่องนี้มาออกสอบนิ
ต่อมาไม่นาน ท้าวไกยเกษแต่งทูตถือสารมาขอตัวหลานตาไปช่วยงานเมือง ท้าวทศรถก็ให้ตามที่ขอ ทว่าพระพรตอิดเอื้อนไม่ยอมไป อ้างว่าไม่อยากจากแม่และพี่น้อง เจ้ากรุงอยุธยาจึงตรัสสั่งให้พระสัตรุดไปเป็นเพื่อน ส่วนพระรามกับพระลักษมณ์รั้งอยู่ช่วยว่าราชกิจต่างหูต่างตา
ระหว่างนั้น ท่านสิบหัวเห็นว่าเหล่านักสิทธิ์วิทยามีวิชาแก่กล้า ทั้งยังมีลูกศิษย์เก่งกาจมากมาย ขืนปล่อยไว้อาจกลายเป็นศัตรูในวันหน้า ดำริแล้วสั่งให้นางกากนาพาบริวารไปรังควานทุก ๆ เจ็ดวัน บรรดานักพรตถูกนางกากนากับพวกแปลงกายเป็นกาบินมาไล่จิกตี ไม่เป็นอันบำเพ็ญเพียร จึงหารือกันแล้วไปแจ้งเหตุแก่พระวสิษฐ์สวามิตร สองพระอาจารย์ต้องเข้ากรุงอยุธยาไปขอพระรามพระลักษมณ์มาปราบยักขินี
พอไปถึงที่เกิดเหตุเห็นหมู่ฤๅษีวิ่งแตกฮือ หนำซ้ำฝูงกายังบินไล่ล่า สองศรีพี่น้องจึงแผลงศรไปไล่ล้างพลกา แล้วนางกากนาสูรกับพระรามก็ทำสงครามปากกันสิบกว่าคำกลอน ก่อนนางจะถูกศรเปรี้ยงเดียวตกดินตาย พลกาที่เหลือรอดหนีตายกลับกรุงลงกาไปแจ้งสวาหุกับมารีศบุตรนางกากนา ซึ่งพอทราบความก็เร่งจัดทัพยกมา ครั้นเห็นมารดาตายอยู่กลางดิน จึงสั่งไพร่พลเข้าล้อมอาศรมพระมุนี เหล่าฤๅษีแตกตื่นตกใจ สองกุมารว่าไม่ต้องกลัว หลานจะออกไปฆ่าพวกยักษ์เอง สู้กันได้แค่สองหน้ากว่า พระรามแผลงศรสังหารสวาหุตายตามมารดา พอมารีศเห็นพี่ตายก็ขนพองสยองเกล้า เห็นพระรามมีสี่กร ถึงกับลนลานเผ่นหนีกลับลงกา
เหตุการณ์ครั้งนี้คือการเปิดฉากรบกันระหว่างพระรามพระลักษมณ์กับฝ่ายลงกาเป็นครั้งแรก ใครที่ยังคิดว่านางสีดาเป็นชนวนสงคราม โปรดทราบแล้วเปลี่ยน
กล่าวฝ่ายพระชนกฤๅษีหลังฝากฝังนางสีดากับเหล่าเทพก็กลับมาบำเพ็ญเพียรต่อ ทว่าไม่สำเร็จดังปรารถนาเลยคลายความเพียร คิดลาพรตกลับไปครองกรุงมิถิลาดังเดิม แล้วนึกถึงธิดาที่ฝังดินไว้ จึงเรียกนายโสมไปช่วยขุดหาที่ใต้ต้นไทรใหญ่อยู่นาน แต่ไม่พบ นายโสมอ่อนใจ ทิ้งจอบนั่งร้องไห้ พระชนกว่าไม่ต้องร้อง นางนี้มีบุญญาบารมี ทั้งมีเทพไทช่วยรักษา เอ็งจงไปบอกเสนาให้เกณฑ์กันมาไถหา
พอเหล่ารถไถเทียมวัวเทียมควายมาถึงก็เร่งไถหากลับไปกลับมาหลายตลบ ทว่ายังคงไม่พบพระธิดา พระชนกรำพึงว่าหรือเทวาสุราฤทธิ์แกล้งปิดบังไว้ คิดแล้วจึงตั้งสัจจาอ้างถึงเดชะบุญของลูกรักเป็นครั้งที่ ๓ จากนั้นลงมือไถเอง ไถปุ๊บพบปั๊บ
เมื่อพากันกลับถึงบรรณศาลา พระชนกตั้งชื่อธิดาว่านางสีดา (แปลว่ารอยไถ มาจากคำสันสกฤตว่าสีตา) เสนาใหญ่ทูลขอให้พระมุนีลาพรตเสด็จกลับไปครองบุรี พระชนกจึงพานางสีดากลับกรุงมิถิลา ครั้นมาถึงไม่นานก็ดำริจะจัดการอภิเษกให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา เนื่องจากเห็นว่านางสีดาอายุ ๑๖ แล้ว (เรื่องการแต่งงานตอนอายุเท่าใดเป็นไปตามธรรมเนียมของยุคสมัย นางพิมก็แต่งงานตอนอายุ ๑๖ ส่วนนางสายทองอายุ ๒๒ ยังไม่ได้แต่งงานถูกมองว่าเป็นสาวแก่ ทว่าสมัยนี้ หากใครแต่งงานตอนอายุ ๑๖ คงถูกมองว่าแก่แดด) จึงสั่งขุนธรรมการไปนิมนต์พระอาจารย์ที่ในป่าเข้ามาทำพิธี
ฝ่ายกษัตริย์กรุงต่าง ๆ เมื่อทราบข่าวว่าพระชนกบำเพ็ญพรตได้พระธิดารูปโฉมงดงาม และจัดพิธียกมหาโมลีธนูศิลป์ของพระปิ่นไกรลาส ซึ่งพระองค์ประทานแด่กรุงมิถิลาหลังฆ่าตรีบูรัมเมื่อตอนต้น ๆ เรื่อง ผู้ใดยกศรขึ้นจะได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา จึงพากันเคลื่อนพลมาดาษดา พระวสิษฐ์สวามิตรทราบข่าวเช่นกัน จึงพาพระรามพระลักษมณ์รีบไป
แทรกนิดว่าตลอดเรื่องนี้ พระอิศวรสังหารขุนยักษ์เพียงตนเดียวคือตรีบูรัม ผู้เคยทูลขอพรเจ้าโลกาว่าอย่าให้ใครล้างชีวิตได้ แม้แต่พระนารายณ์ผู้มีหน้าที่พิฆาตเหล่ากุมภัณฑ์ เมื่อตรีบูรัมทำผิดมหันต์ พระศุลีจึงต้องสำเร็จโทษเอง
ครั้นองค์สหัสนัยน์ทราบความ เกรงจะเกิดศึกชิงนางฆ่าฟันกัน ดำริแล้วเสด็จไปเป็นประธานพิธีพร้อมหมู่เทวา พอได้ฤกษ์ พระชนกสั่งลั่นฆ้องชัย บรรดากษัตริย์ก็เบียดเสียดยื้อแย่ง เจ้าตรัยตรึงศ์จึงตรัสห้าม และให้ทยอยผลัดกัน
กรุงกษัตริย์เข้ายกทุกธานี แต่จะไหวจากที่ก็หาไม่
สิ้นฤทธิ์สิ้นกำลังสิ้นอาลัย อ่อนใจหน้าซีดสลดลง
พระรามเห็นดังนั้น รับสั่งแก่พระลักษมณ์ว่า “น้องรัก จงไปลองยกธนูโมลีดูทีว่าหนักสักเพียงใด”
พระลักษมณ์ไปทำตามบัญชา ลองจับศรพอจะเขยื้อนก็รู้แจ้งแก่ใจ กลับมาเฝ้าพระจักรี เมื่อพี่เห็นสีหน้าน้องก็รู้กันอยู่ในที เดินไปยกมหาธนูขึ้นกวัดแกว่งสำแดงฤทธิ์ พระอินทร์สั่งให้เป่าสังข์ โหมประโคมดนตรีกึกก้องกาหล บรรดากษัตริย์เห็นศักดาพระราเมศก็เกรงเดช ทูลลาท้าวชนกและท้าวสหัสนัยน์ ออกจากบุรีแยกย้ายกันไป
เหตุการณ์ตอนนี้สะท้อนความเป็นสุดยอดพระรองของอนุชา ผู้ไม่เคยทำเกินคำสั่งเชษฐาผู้เป็นพระเอก ดูแล้วอาจไม่เห็นว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ แต่เหตุการณ์ตอนต่อ ๆ ไปมีว่าลูกน้องที่ทำเกินคำสั่งเจ้านายด้วยความหวังดีนั้น ผลกลับกลายเป็นถูกเจ้านายมองว่าประสงค์ร้าย ฉะนั้น ลูกน้องทั้งหลายพึงสังวรว่าเก่งกว่าใครเก่งได้ แต่ห้ามเก่งเกินหน้าเจ้านายเด็ดขาด
จากนั้น พระชนกให้เหล่าปุโรหิตหาฤกษ์งามยามดี แล้วแต่งทูตถือสารไปทูลเชิญเจ้ากรุงอยุธยามาทำการวิวาห์ ท้าวทศรถเสด็จมาพร้อมสามมเหสีและพระพรตกับพระสัตรุด พระอินทร์เหาะลงมาอีกครั้ง ทำหน้าที่ประธานในพิธีซึ่งจัดอย่างเอิกเกริกสิบกว่าหน้า ใครอยากอ่านซึมทราบรสคำ เชิญไปอ่านต้นฉบับ แต่ครูหนอนฯ ขอข้าม เพราะเนื้อความไม่มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง และไม่ได้มีคติสอนใจหรือให้แง่คิดใด ๆ
หลังเสร็จพิธีสยุมพร ระหว่างทางเสด็จกลับอยุธยา รามสูรผู้มาเที่ยวป่าละแวกเมืองมิถิลาเห็นเหล่าพลากรก็สกัดทาง ทำสงครามปากกันตามธรรมเนียม ก่อนเข้ารุกไล่ไพร่พลแตกฉานซ่านเซ็น กระทั่งมาถึงหน้ารถพระราม เห็นนางสีดารูปโฉมงดงามผิวพรรณผุดผ่องต้องตา
จึ่งว่าเหวยมนุษย์อหังการ์ พาหญิงผ่านหน้ากูมาไย
ยกตนพ้นศักดิ์ว่าชื่อราม ให้ต้องนามกูผู้เป็นใหญ่
อันตัวของเอ็งจะบรรลัย กูจะพาเมียไปบัดนี้
ถ้าลำดับความตามที่เล่าตั้งแต่ตอนแรกมาถึงตอนนี้ จะเห็นว่าการสู้รบส่วนใหญ่เป็นศึกชิงนาง หากอ่านเพียงผิวเผินอาจคิดว่าพวกผู้ชายนี่บ้าถึงขนาดยอมเอาชีวิตเข้าแลกผู้หญิงคนเดียว จึงลองอ่านให้ลึก โดยเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ตอนสงครามช้างเผือกครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งช้างไม่ใช่แค่ช้าง แต่เป็นศักดิ์ศรีของราชธานีและศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย นางสีดาก็ครือกัน ตกเป็นเป้าหมายการแก่งแย่งของพวกชอบสำแดงศักดา
ประลองอาวุธกันได้ราว ๓ หน้า รามสูรสู้ไม่ได้ เจ็บตัวแทบตายจนถอดใจคิดยอมแพ้ แต่กลัวจะขายหน้าทั่วทั้งสิบทิศ รำพึงพลางพิศดูพระรามก็กลับเห็นเป็นสี่กรถือสังข์จักรคทา จึงแจ้งใจว่าเป็นนารายณ์อวตาร (ตัวละครตัวอื่น ๆ ในเรื่องที่เห็นเช่นนี้ ก็มักเห็นด้วยความกลัวตายหรือกลัวขายหน้าเช่นกัน) วิ่งมากราบบาทาทูลขอโทษโปรดไว้ชีวิต พร้อมถวายศรที่ตกทอดมาแต่รุ่นปู่ตรีเมฆ ผู้รับประทานศรนี้จากพระอิศวร
พระอวตารรับศร แล้วโยนขึ้นไปฝากพระพิรุณให้ช่วยเก็บไว้ เผื่อว่าวันหน้ารอนราญอับจน ขอท่านช่วยส่งศรนี้ให้ด้วย จากนั้นเคลื่อนพลต่อ พระพรตกับพระสัตรุดยกกลับกรุงไกยเกษ ส่วนท้าวทศรถกับสามมเหสี รวมถึงพระรามกับนางสีดาและพระลักษมณ์ยกกลับอยุธยา ต่างครองเมืองร่มเย็นเป็นสุข ทว่าอีกไม่นานก็เกิดเรื่องบ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งถ้าพระรามเป็นนารายณ์อวตารจริง เรื่องนี้ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น...ซ้ำร้ายนางสีดาต้องพลอยตกเป็นขี้ปากว่าเป็นต้นเหตุให้อสุราถูกผลาญสิ้นวงศ์
ย้อนอ่านตอนเก่า ๆ ได้ที่มุมสมาชิก