top of page

หลักสูตรอบรมการแปลเพื่อธุรกิจการธนาคารและการลงทุน (ไทย-อังกฤษ)


หลักสูตรอบรมการแปลเพื่อธุรกิจการธนาคารและการลงทุน (ไทย-อังกฤษ)

(Thai- English Translation for Investment & Banking Businesses)

วันเสาร์และอาทิตย์ที่ ๒๗-๒๘ พฤษภาคม ๓-๔ และ ๑๐-๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

ณ โรงแรมสวนดุสิตเพลส ถนนนครราชสีมา กรุงเทพฯ

จัดโดย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

๑) หลักการและเหตุผล

ในสังคมปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการธนาคารและการลงทุนที่มีหุ้นส่วน ลูกค้า และ/หรือ นักลงทุน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ทั้งภายในประเทและภายนอกประเทศ ภาษาอังกฤษจึงสำคัญในฐานะภาษาสากลที่ใช้ในการสื่อสาร ดังนั้น ทักษะการแปลภาษาอังกฤษสำหรับงานเอกสารธุรกิจประเภทนี้ เพื่อใช้บริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมเป็นที่พึงปรารถนาขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อ โบรกเกอร์ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ความรู้ทางศัพท์ สำนวน ตลอดจนไวยากรณ์เพื่อการสื่อสาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาความสามารถในการแปลนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตการทำงานสาขาการเงินการธนาคารและการลงทุนในองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น

หลักสูตรอบรมการแปลธุรกิจการธนาคารและการลงทุน (ไทย-อังกฤษ) ซึ่งจัดโดย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นการสอนเชิงปฏิบัติการแปลศัพท์ การเลือกใช้สำนวนและวลี ตลอดจนรูปแบบไวยากรณ์ที่เหมาะสมกับเอกสารและสื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านภาษาและการแปลเชิงธุรกิจของผู้เข้าอบรม โดยจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลแก่การทำงานในโลกการธนาคารและการลงทุนแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อย่างเป็นระบบ

๒) วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เข้าอบรม ด้านการแปลธุรกิจด้านการธนาคารและการลงทุน จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยปูพื้นฐานด้านคำศัพท์และไวยากรณ์ภาษาอังกฤษที่สอดคล้องกับบริบทการแปลอย่างเป็นระบบ ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแปล (ไทย – อังกฤษ) ในบริบทงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจด้านการเงิน การธนาคาร และการลงทุน

๓) เนื้อหาของหลักสูตร

๓.๑) ภาคไวยากรณ์ ทบทวนลักษณะคำภาษาอังกฤษ การสังเกตคำนาม คำกริยา คำคุณศัพท์ คำวิเศษณ์ คำสันธาน (คำเชื่อม) การใช้ article รูปแบบขั้นพื้นฐานของประโยคภาษาอังกฤษ (basic sentence patterns) การใช้กริยาที่ต้องผันตามประธานของประโยค (agreement of subject and verb) การใช้ tense ที่แสดงกาลเวลาต่างกัน การใช้ประโยค active voice และ passive voice การเปรียบเทียบลักษณะเหมือนและต่างระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

๓.๒) ภาคบริบท ศึกษาแบบแผนสากลของงานเขียนประเภทต่าง ๆ ที่พบบ่อยในการทำงานด้านการธนาคารและการลงทุน เช่น อีเมล จดหมายโต้ตอบ บันทึกการประชุม เอกสารประชาสัมพันธ์ เอกสารหรือสื่อโฆษณา เอกสารประกอบการขาย เอกสารนักลงทุน รายงานประจำปี นโยบายและข้อบังคับของบริษัท ข้อกำหนดของตลาดหลักทัพย์ เว็บไซต์ธุรกิจ ฯลฯ

๓.๓) ภาคปฏิบัติ เรียนรู้วิธีการเตรียมตัวก่อนลงมือแปล ใช้เทคนิคอ่านผ่าน (skimming) และอ่านเร็วเพื่อเก็บความ (scanning) จัดทำประมวลศัพท์ ฝึกหัดการแปลคำศัพท์ (words) วลี (phrases) และประโยค (clauses) ที่พบบ่อยในธุรกิจการธนาคารและการลงทุน โดยมุ่งเน้นการร้อยเรียงบทแปลให้สละสลวยและสื่อความหมายได้ดี (cohesion and coherence) ใช้เอกสารจริงเพื่อฝึกแปล เช่น ในการแปลอีเมลหรือจดหมายโต้ตอบ จะฝึกแปลคำขึ้นต้น คำเรียกขาน และคำลงท้ายภาษาอังกฤษตามระดับความสุภาพ และแปลเนื้อความ ในการแปลเอกสาร เช่น เอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ เอกสารประกอบการขาย เอกสารนักลงทุน รายงานประจำปี ฯลฯ จะฝึกเทคนิคการแปลที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแปลตรงตัว แปลเอาความ แปลทับศัพท์ แปลแบบละความ แปลแบบเพิ่มความ และแปลโดยใช้คำทดแทนทางวัฒนธรรม ในตอนท้ายการอบรม วิทยากรจะช่วยทบทวนความรู้ แนะนำการปรับปรุงต้นฉบับ (proofreading) และตรวจแก้ (editing) รวมถึงเสนอแนะแหล่งค้นคว้าเพื่อใช้ข้อมูลประกอบการแปล

๔) วิธีการสอน

๔.๑) การบรรยายและการอภิปราย

๔.๒) การใช้กรณีศึกษาจากตัวอย่างจริง

  • การใช้แบบฝึกหัดการแปลเอกสารธุรกิจภาษาอังกฤษประเภทต่าง ๆ

  • การให้ผู้เข้าอบรมทำงานเดี่ยว / กลุ่มตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย

  • การใช้ peer review ตรวจผลงานเพื่อปรับปรุงแก้ไข

  • การใช้ feedback เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และเป็นตัวชี้วัดการประเมินพัฒนาการด้านการแปล

๕) คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม

ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานด้านธุรกิจการเงินการธนาคาร และการลงทุน ผู้สนใจพัฒนาศักยภาพ การแปลภาษาธุรกิจ (ไทย-อังกฤษ) รวมถึงบุคลากรที่รับผิดชอบงานด้านต่างประเทศ วิเทศสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ หรืองานเผยแพร่ข่าวสารองค์กรผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น วารสาร จุลสาร เอกสารหรือสื่อโฆษณา เอกสารประกอบการขาย เอกสารนักลงทุน รายงานประจำปี นโยบายและข้อบังคับของบริษัท ตลาดหลักทรัพย์ และเว็บไซต์ธุรกิจ โดยผู้เข้าอบรมควรมีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษดีหรือค่อนข้างดี

๖) ประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ

๖.๑) มีความรู้หลักการแปลและหลักการทำงานเบื้องต้นของการแปลธุรกิจ (ไทย – อังกฤษ)

๖.๒)พัฒนาความสามารถด้านการแปลเชิงธุรกิจด้านการธนาคารและการลงทุนจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

๖.๓) วิเคราะห์ปัญหาการแปล ประเมินงานแปล และแก้ปัญหาได้

๖.๔) นําความรู้ด้านการแปลธุรกิจเบื้องต้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ต่ออาชีพและต่อสังคม

๗) สถานที่และระยะเวลาการอบรม

ห้องเกี้ยวเกล้า โรงแรมสวนดุสิตเพลส ถนนนครราชสีมา กรุงเทพฯ

วันเสาร์และอาทิตย์ที่ ๒๗-๒๘ พฤษภาคม ๓-๔ และ ๑๐-๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๐

วิทยากร ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และคณะ

ผู้อำนวยการหลักสูตร อ.ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล

ผู้ประสานงานหลักสูตร คุณอังสนา ทรัพย์สิน อีเมล tiatangsana@gmail.com โทรศัพท์ ๐๙๕-๓๐๖-๐๗๓๖

ค่าอบรม ๕,๔๐๐ บาท รับเฉพาะสมาชิกตลอดชีพ ค่าสมัครสมาชิกตลอดชีพ ๒,๐๐๐ บาท ผู้สนใจส่งอีเมลถึงผู้ประสานงานหลักสูตรเพื่อขอทราบขั้นตอนการสมัคร

ประวัติวิทยากร ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร

อาจารย์อรองค์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้านบริหารธุรกิจจาก International Pacific College ประเทศนิวซีแลนด์ โดยทุนมหาวิทยาลัย อาจารย์มีประสบการณ์ทำงานธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมในฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ โดยรับผิดชอบการสื่อสารองค์กรระหว่างการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO – Initial Public Offering) รวมทั้งการจัดทำรายงานประจำปีร่วมกับบริษัท Boston Consulting Group ก่อนจะรับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัย Warwick ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมารับราชการที่คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ( NIDA) โดยสอนวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ วาทกรรมวิเคราะห์ การแปล การสื่อสารทางธุรกิจ การสื่อสารเพื่อ CSR ในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติของคณะ และสอนการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเชิงวิชาการให้คณะอื่น ๆ เช่น คณะบริหารธุรกิจ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถิติประยุกต์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะการจัดการการท่องเที่ยว และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมระยะเวลาเป็นข้าราชการ 20 ปี ช่วงปี 2554 – 2555 สำนักบริหาร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ยืมตัวมาเป็นรักษาการผู้อำนวยการ

อาจารย์อรองค์ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหารระหว่างปี 2550 ถึงปลายปี 2552 และสร้างผลงานวิจัยด้านวาทกรรมวิเคราะห์และวรรณกรรม อาทิ รายงานวิเคราะห์โครงการนโยบายภาษาแห่งชาติของราชบัณฑิตยสถาน โดยทุนสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ รายงานวิจัยเส้นทางสู่ความเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ของนักเขียนไทยร่วมสมัย รวมทั้งเขียนบทความวิชาการภาษาอังกฤษ โดยรับเชิญไปนำเสนอบทความในที่ประชุมวิชาการหลายแห่งในยุโรป เอเชียแปซิฟิค และสหรัฐอเมริกา มีงานเขียนหลายเรื่องตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ในปี 2553 อาจารย์อรองค์ได้รับทุนจากคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติในฐานะบรรณาธิการวารสาร NIDA Journal of Language and Communication เพื่อผลิตวารสารวิชาการปีละสองเล่ม โดยนำเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และวางจำหน่าย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความให้วารสารมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และเป็นบรรณาธิการวรรณกรรมรวมเรื่องสั้น นิยาย และรวมบทกวีนิพนธ์ ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ (กวีซีไรต์ พ.ศ. 2547) โดยหลายเล่มได้รับรางวัลระดับชาติ อีกทั้งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และเวียดนาม

สำหรับงานบริการวิชาการนั้น อาจารย์อรองค์เคยเป็นที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการทรัพย์สินทางปัญญา ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และช่วยงานด้านสุนทรพจน์แก่เลขาธิการวุฒิสภา เคยร่วมจัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพด้านต่างประเทศ” ให้วุฒิสภาในหัวข้อการร่างสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษและการเขียนเอกสารราชการภาษาอังกฤษ ต่อมาได้ให้เกียรติเป็น วิทยากรบรรยายในหัวข้อ Note-taking: การจับประเด็นและสื่อความภาษาอังกฤษ แก่ข้าราชการสำนักราชเลขาธิการ ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันพัฒนาการคิด ของสมาคมศิษย์เก่านิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิโมโตโรลา สหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ปี 2553 อาจารย์ยังเป็นนักวิชาการรับเชิญของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยร่วมจัดทำหนังสือ Thailand in the 2010s และร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านวรรณศิลป์ของประเทศไทยตามลำดับ รวมทั้งเป็นกรรมการคัดสรรการแปลวรรณกรรมเยาวชน นอกจากนี้ ยังเป็นนักแปลและบรรณาธิการรับเชิญให้กระทรวงวัฒนธรรมในการแปลวรรณกรรมไทยออกสู่อาเซียน

สำหรับทุนและรางวัลทางวิชาการนั้น อาจารย์เคยได้รับทุนเรียนดี และรางวัลการแปลนิทานชาดกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทุนเงินรางวัลสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย Warwick ในการนำเสนอผลงานวิจัยปริญญาเอก ณ ประเทศอิตาลี สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก และรางวัลชมเชยจากการประกวดบทความวิชาการประจำปี 2551 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ปัจจุบันอาจารย์สอนวิชาทฤษฎีการแปลและการปฏิบัติในหลักสูตรปริญญาโทภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาอาชีพของ

นิด้า และรับเชิญไปสอนการแปลระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นประจำ นอกจากการสอนระดับปริญญาเอกด้านภาษาและการสื่อสารที่นิด้าแล้ว ยังรับเชิญไปสอนปริญญาเอกในสาขานี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาวาทกรรมเชิงธุรกิจ และการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ อีกด้วย

Featured Posts
bottom of page