top of page

โครงการจัดอบรมหลักสูตรศิลปะการใช้ภาษาไทยในงานแปล


๑. หลักการและเหตุผล

เนื่องจากนักแปลต้องใช้เวลาหลายปีไปกับการเรียนภาษาต่างประเทศ จนไม่ค่อยมีเวลาศึกษาภาษาไทยให้แตกฉาน เวลาทำงานแปลจึงมักนึกภาษาไทยที่เหมาะสมไม่ออก หรือบางครั้งก็นึกไม่ถึงว่าผู้อ่านไม่เข้าใจภาษาที่ตนแปล เนื่องจากผู้แปลเข้าใจแล้วตอนอ่านต้นฉบับภาษาต่างประเทศ ต่อเมื่อมีผู้ท้วงติง จึงรู้ตัวว่ายังใช้ภาษาไทยในงานแปลได้ไม่ดีเท่าที่ควร และต้องการแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านี้

ผู้เสนอโครงการเห็นว่าทางสมาคมฯ ควรจัดอบรมศิลปะการใช้ภาษาไทยในงานแปล รุ่นที่ ๑ในปีนี้ (พ.ศ.๒๕๕๘) เพื่อตอบสนองความประสงค์ของผู้ทำงานแปลที่กล่าวถึงข้างต้น

๒. วัตถุประสงค์

๒.๑ เพื่อปรับพื้นฐานภาษาไทยให้แน่น

๒.๒ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้ตรงตามต้นฉบับ

๒.๓ เพื่อใช้ภาษาไทยในงานแปลได้รสคำงามรสความชัด

๓. หัวข้อการสอน

- วันที่ ๑ ภาคเช้า วิทยากรบรรยายหัวข้อ “เข้าถึงแก่นภาษาไทย” โดยอธิบายสาระหลัก ๖ สาระ อย่างรวบรัดชัดเจนพร้อมตัวอย่างประกอบ ได้แก่ ๑. อักษรสามหมู่ ๒.การผันวรรณยุกต์ ๓.คำเป็น-คำตาย ๔.อักษรนำ ๕.อักษรควบ ๖.คำประสมและสำนวน จากนั้นผู้เรียนตอบโจทย์แต่ละสาระซึ่งมีความสนุกสนานเพลิดเพลินด้วย ตามคติการเรียนตามขนบเดิม คือเรียนปนเล่นจนเจนจบ

- วันที่ ๑ ภาคบ่าย วิทยากรบรรยายหัวข้อ “เข้าถึงวรรณคดีไทย” โดยนำบททองจากวรรณคดีไทยมาให้ผู้เรียนฝึกอ่านออกเสียง แปลความ อ่านความรู้สึกนึกคิดของตัวละครและกวี วรรณคดีไทยที่นำมาใช้ประกอบการสอน ได้แก่ ๑.นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศเมืองเพชร และนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ ๒.โคลงโลกนิติของกรมพระยาเดชาดิศร ๓.ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ๔.รามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

- วันที่ ๒ วิทยากรบรรยายหัวข้อ “ศิลปะการใช้ภาษาแปลที่เหมาะสม” เพื่อให้เรียนรู้นิยามการแปล การทำความเข้าใจต้นฉบับ การถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้ตรงตามต้นฉบับ การใช้ภาษาอย่างสมเหตุสมผล โดยทุกประโยคตัวอย่างที่อธิบายในแต่ละหัวข้อย่อยนั้น วิทยากรนำมาจากการทำงานบรรณาธิการต้นฉบับมากกว่า ๗๐ เล่ม ซึ่งมีทั้งหมด ๕ ภาษา ได้แก่ ๑.ภาษาอังกฤษแบบบริติชและอเมริกัน ๒. ภาษาเยอรมัน ๓.ภาษาสเปน ๔.ภาษาเกาหลี ๕.ภาษาจีน (ตัวอย่างจาก ๕ ภาษานี้ จะใช้ในวันที่ ๓ และวันที่ ๔ ด้วย โดยใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละหัวข้อย่อย)

- วันที่ ๓ วิทยากรบรรยายหัวข้อ “ศิลปะการแปลเทศเป็นไทย” เพื่อให้เรียนรู้การอ่านความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม อิทธิพลภาษาอเมริกันต่อภาษาอื่น วลีและประโยคยอดนิยมที่มักแปลผิดหรือไม่สละสลวย องค์ประกอบสำคัญทางวรรณกรรม

วันที่ ๔ วิทยากรบรรยายหัวข้อ “ศิลปะการแปลไทยเป็นไทย” เพื่อให้เรียนรู้วิธีการตรวจแก้ขัดเกลาบทบรรยายผู้คน/สิ่งของ/สถานที่/สถานการณ์/ความรู้สึกนึกคิด บทสนทนา สำนวน การเล่นคำเล่นความ การเปิดใจให้หลุดพ้นกรอบภาษา การแปลให้ได้รสคำงามรสความชัด

๔. กิจกรรมการเรียนการสอน

๔.๑ ฟังการบรรยาย

๔.๒ เล่มเกมภาษาไทย เพื่อเรียนรู้ถ้อยคำสำนวนตลอดจนการนำไปใช้

๔.๓ ฝึกการอ่านออกเสียงบททองจากวรรณคดีไทย เพื่อซึมทราบรสคำรสความ

๔.๔ ฝึกปฏิบัติการแปล ตรวจแก้ และขัดเกลา

๕. ระยะเวลาและสถานที่จัดอบรม

๒ สัปดาห์ เสาร์-อาทิตย์รวม ๔ วัน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๕ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ณ ห้องประชุมศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) ถนนศรีอยุธยา สามเสน เทเวศร์ กรุงเทพฯ

**กำหนดการอบรมโดยละเอียด

๖. ผู้เรียน

รับสมัครจำนวนจำกัดไม่เกิน ๒๐ คน เหมาะสำหรับผู้ต้องการทำงานแปล นักแปล ผู้ช่วย/บรรณาธิการต้นฉบับ และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องแปลงานจากภาษาใด ๆ เป็นภาษาไทย

๗. ค่าลงทะเบียน

ค่าอบรม ๓,๖๐๐ บาท รับเฉพาะสมาชิกตลอดชีพ*

*ค่าสมัครสมาชิกตลอดชีพ ๒,๐๐๐ บาท

(กรุณาติดต่อผู้ประสานงานหลักสูตร ม.ล.วีรอร วรวุฒิ jeedvee@gmail.com)

**สมัครสมาชิก และกรอกใบลงทะเบียนหลักสูตรที่ สมัครสมาชิก

๘. เกณฑ์ได้รับประกาศนียบัตร เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยล ๗๕ (ขาดได้ไม่เกิน ๑ วัน)

๙. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๙.๑ ผู้เรียนใช้ภาษาไทยในงานแปลได้เหมาะสม

๙.๒ มีงานแปลที่อ่านเข้าใจง่ายเพิ่มขึ้น

๙.๓ มีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานงานแปล

๑๐. ผู้รับผิดชอบการฝึกอบรม สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

๑๐.๑ ผู้อำนวยการหลักสูตร ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล นายกสมาคมฯ

๑๐.๒ วิทยากร อ.สถาพร ฉันท์ประสูตร (ครูหนอนฯ)

๑๐.๓ ผู้ประสานงานหลักสูตร ม.ล.วีรอร วรวุฒิ jeedvee@gmail.com

Featured Posts
bottom of page