top of page

รามเกียรติ คลังภูมิปัญญาสยาม ตอนที่ ๓ ศึกชิงนางครั้งแรก


มาจะกล่าวบทไปถึงดาบสทั้งสี่ จะชื่ออะไรบ้างก็ช่างเถิด เพราะเป็นตัวประกอบผู้ออกฉากไม่กี่ฉาก อาจารย์ก็คงไม่คิดเอามาออกสอบหรอกฮิ

ฤๅษีอาศัยในป่า มีโคนม ๕๐๐ ตัวมาหยดนมลงในอ่างให้ถึงศาลา ถึงเวลาพระนักพรตก็มาฉัน เหลือให้เป็นทานนางกบเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง หลังฉันนมวัวสดก็ไปป่า เดินไปเห็นนางนาคีเกี้ยวกระหวัดรัดรึงกับงูดิน

จึงหยุดยืนอยู่ดูไป หลากใจนิ่งนึกตรึกถวิล

เหตุไรวิสัยนาคินทร์ มายินดีด้วยชาติอันต่ำพงศ์

ไม่คิดสงวนศักดิ์รักตัว กลั้วกาให้เสียเผ่าหงส์

เสียดายตระกูลประยูรวงศ์ มาหลงคบชู้ที่กลางทาง

คิดแล้วเอาไม้เท้าเคาะ เบาะลงที่ตรงขนดหาง

เห็นกระสันพันกันไม่ละวาง จึงเคาะซ้ำลงกลางกายา

นางนาคตกใจคลายขนด ลืมตาเห็นสี่พระมุนีก็นึกอัปยศ ชำแรกพื้นหนีไปเมืองบาดาล ทว่าคิดแค้นที่พระสิทธาทำให้ได้อาย ทั้งคิดกลัวว่าความจะรู้ถึงหูพระบิดา จึงคิดฆ่าฤๅษีโดยกลับขึ้นมาคายพิษไว้ในอ่างนม

ฝ่ายนางกบเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ และจนใจเพราะพูดบอกไม่ได้ พูดเป็นแต่ภาษากบ อ๊บอ๊บ แต่ครั้นนึกถึงคุณดาบส จึงบอกด้วยการโจนลงไปขาดใจในพิษนาค

วันรุ่งขึ้น สี่พระดาบสจะมาฉันนม เห็นนางกบตายคาอ่าง ก็บริภาษว่าตะกละจนจมนมตาย (คงลืมคิดว่ากบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนิ) แต่หากไม่ช่วยชีวิตย่อมขาดเมตตา จึงคีบขึ้นเป่ามนตร์เสกให้คืนชีพ

เมื่อนางกบฟื้นก็ชี้แจงแถลงไข (ตอนนี้ที่พูดได้เพราะไม่ใช่กบธรรมดา แต่เป็นกบที่ฤษีชุบขึ้นด้วยฤทธิ์) สี่นักพรตฟังแล้วยินดี ปรึกษากันได้ความว่าจะตอบแทนความกตัญญูเสกกบเป็นหญิง จากนั้นก่อกองไฟทำพิธี ได้นางผู้มีความสวยเป็นเลิศระดับนางงามจักรวาล แต่ไม่ได้เอามาทำเมียเหมือนโคดมฤๅษี

จึ่งให้นามตามชาตินงคราญ ชื่อมณโฑเยาวมาลย์มารศรี

พระนักสิทธิ์พิศโฉมนางเทวี มีลักษณ์เลิศล้ำกัลยา

จึ่งปรึกษากันทั้งสี่องค์ นางนี้รูปทรงดั่งเลขา

ควรจักถวายเจ้าโลกา ทั้งจะพ้นนินทาราคี

ว่าแล้วก็พากันเหาะไปถึงไกรลาสบรรพต ถวายนางมณโฑ (แปลความตามกลอนตอนนี้ได้ว่าน้องกบผู้งดงามเหมือนภาพเขียน) แด่พระปิ่นโลเกศนาถา พระอิศวรยินดีรับไว้ แล้วมอบต่อพระอุมาให้เป็นข้าช่วงใช้

แทรกเกร็ดความรู้ภาษาไทยเรื่องหนึ่ง ตัว ฑ เป็นพยัญชนะที่ออกเสียงได้ ๒ อย่าง แต่เดิมมีหลักว่าออกเสียงเป็น ท เมื่อคำนั้นเป็นคำเป็น เช่น บัณฑูร มณฑล แต่หากคำนั้นเป็นคำตาย เช่น บัณฑิต มณฑป ออกเสียงเป็น ด ยกเว้นคำเดียวคือ มณฑก (แปลว่ากบ) ต้องออกเสียงเป็น ท ว่า มน-ทก เพราะหากออกเสียงเป็น ด ตามหลักดังกล่าว เราก็ต้องออกเสียงเรียกน้องกบในเรื่องนี้ว่า นางมนโด

น้องกบรับใช้ใกล้ชิด ต่างเนตรต่างกรเป็นที่ถูกใจ พระอุมาจึงเอ็นดู บอกเวทมนตร์ต่าง ๆ ให้ทุกเวลา ว่าที่ภรรยาทศกัณฐ์คนนี้จึงมีวิชาติดตัว ท่านสิบหน้ารักมากออกนอกหน้า เกินหน้าภริยานางอื่น ๆ

กล่าวถึงเหตุให้ทศกัณฐ์ได้มเหสี พญากาลนาคแห่งพิภพบาดาลคิดแค้นสหมลิวัน ผู้มาตั้งราชฐานในบาดาล จึงยกพลไปตีเมือง ครั้นหักด่านได้ก็ล้อมบุรีไว้สามชั้น

ฝ่ายท้าวสหมลิวันผู้ชราภาพให้ส่งสารถึงท้าวลัสเตียนเจ้ากรุงลงกา

เชิญพระนัดดาดวงเนตร ผู้เรืองเดชฤทธิรอนศรสิทธิ์

ยกหมู่โยธาอันมีฤทธิ์ มาช่วยชีวิตอัยกา

เมื่อทัพลงกาไปถึง ท้าวสหมลิวันสั่งพระลูกยาคือมหายมยักษ์ให้ยกทัพกระหนาบไปด้วย รบกันได้ไม่ถึงหน้า ท้าวลัสเตียนแผลงศรเป็นครุฑไปคาบพญากาลนาค พอมาถึงด้วยความกลัวตาย นาคจะคิดอายก็หาไม่ พร่ำออกปากร้องขอชีวิต ไม่สมเป็นลูกผู้ชาย

เจ้าลงกาเมตตาสั่งครุฑให้วางภุชงค์ลงหน้ารถ พญานาคกลายร่างเป็นมาณพ คลานมากราบกราน ขอบพระคุณที่ประทานชีวิต จึงขอถวายราชธิดา ก่อนลากลับเมือง

ครั้นพญานาคนำนางกาลอัคคี (บางครั้งกลอนเรียกสั้น ๆ ว่านางอัคคี) ผู้เป็นธิดามาถวาย ท้าวลัสเตียนตรัสว่า “จะให้ร่วมห้องทศกัณฐ์”

“สุดแต่ภูวไนยจะเมตตา” พญานาคตอบ แล้วลากลับไปบาดาล

นางกาลอัคคีจึงเป็นเมียแต่งคนแรกของทศกัณฐ์ นางนาคผู้นี้ก็คือตัวเดียวกับที่สมสู่งูดิน เป็นนางกาลอัคคีผู้มีราคี

ตัดฉากฉับ (แปลจากกลอนว่า “มาจะกล่าวบทไป”) ครั้นถึงกำหนดเวลาวิรูฬหกก็เหาะไปเฝ้าพระอิศวร พอไปถึงไกรลาส นึกว่าบรมนาถ “เสด็จออกอสูรเทวา” (แปลว่าโปรดให้เหล่ามารและเทพเข้าเฝ้า) จึงหมอบกราบไป ไม่ได้ดูองค์พระทรงญาณ

บัดนั้น จึ่งสารภูตัวหาญ

อยู่ยอดภูผามาช้านาน เห็นขุนมารเดินกราบบันได

ร้องว่าตุ๊กแกแล้วแลดู ทำชูศีรษะเย้ยให้

ครั้นอสุระกราบลงทีไร ก็ร้องไยไพลงมา

วิรูฬหกเห็นสารภูบังอาจก็ฉุนขาด ถอดสังวาลนาคขว้างไปถูกเขาไกรลาสทรุด สารภูตายคาผา อยู่ดีไม่ว่าดี ดันหาเรื่องใส่ตัวไปยั่วโมโหยักษ์

ครั้นได้ยินเสียง พระอิศวรเสด็จมาที่หน้ามุขเห็นเขาทรุด

จึงตรัสว่าผู้ใดจะองอาจ ยกมหาไกรลาสขึ้นได้

เราจะบำเหน็จให้ถึงใจ ตามในความชอบที่ทำการ

เหล่าเทพอาสาออกมาสำแดงฤทธิ์ เข้ายกเข้าผลัก โห่ร้องก้องสนั่น ได้แค่พักเดียวก็กราบทูลพระศุลี “ข้านี้หมดแรง”

พระอิศวรจึงตรัสสั่งจิตุบทไปเรียกทศกัณฐ์ พอท่านสิบหน้ามาถึง ไม่โห่ร้องให้เสียแรงเปล่า ยี่สิบแขนกุมเหลี่ยมเขา เท้าถีบด้วยกำลัง ไกรลาสก็กลับตรงดังเดิม

จากนั้นมาเฝ้าพระศุลี ท่านสิบปากถึงกับออกปากขอประทานพระอุมา ตรงนี้ครูหนอนฯ เห็นว่าสะท้อนนิสัยไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงของท่านสิบหัว ขออะไรไม่ขอ ดันทะลึ่งขอเมียเจ้านาย ทว่ามองอีกมุมอาจเป็นเพราะได้ยินคำร่ำลือมานานว่าเจ้าไตรโลกาใจกว้าง จึงลองใจโดยทูลขอเมียดูว่าสมคำร่ำลือไหม ปรากฎว่าพระอิศวรเป็นสุดยอดเจ้านายจริง ลูกน้องกล้าขอก็กล้าให้ จนฝูงเทพน้อยใหญ่ตกใจไม่มีขวัญ รีบพากันไปเฝ้าพระนารายณ์

กล่าวฝ่ายทศกัณฐ์อุ้มเทพมารดรมาด้วยความร้อนกายเหมือนไฟเผา จึงช้อนพระบาทนางทูนหัวเหาะไปก็ยังไม่วายหายร้อน เลยต้องพาลงเดิน มาถึงปากทางไปลงกา เห็นยักษ์เฒ่า (พระนารายณ์จอมแปลงกาย) ปลูกต้นไม้เอายอดลงดินรากชี้ฟ้า ท่านสิบปากก็เอ่ยปากตำหนิความเบาปัญญา

ยักษ์เฒ่าสวนว่า “ตัวท่านโฉดเขลา กลับมาติเตียนเรา” แล้วตบมือพลางหัวเราะเยาะ

ท่านสิบหน้าโต้ “เราเขลาตรงไหน เร่งบอกมา ไม่อย่างนั้น ตาย”

“ก็นางดีมีไม่พามา ดันเอาหญิงที่ดูลักษณะแล้วจะผลาญโคตรวงศ์ยักษาลงกาสูญสิ้น”

“ใครหรือ ช่วยบอกด้วยเถิด เราจะรีบกลับไปเปลี่ยนนาง และจะแทนคุณตาครั้งนี้”

พระนารายณ์แปลงรีบตอบ “ชื่อว่ามณโฑเทวี งามเกินใครในสรวงสวรรค์”

พอทศเศียรได้ฟัง รีบเหาะไปขอเปลี่ยนนาง ณ ไกรลาส

พระอิศวรยิ้ม แล้วมีเทวโองการ “นงคราญอุมาเป็นเทพมารดา ไม่ควรวาสนาเจ้า” จากนั้นตรัสเรียกนางมณโฑมาประทาน สมกับเป็นเจ้านายผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อลูกน้องทำผิดแล้วรู้ตัว ก็ไม่ดุด่าให้ระคายใจ ทั้งให้อภัยและให้บำเหน็จใหม่ตามที่ขอ ต่อไปหากเรียกใช้ ลูกน้องย่อมยอมถวายหัว

ส่วนที่พระนารายณ์ใช้วิธียอกย้อน ด้วยรู้ดีว่าคนคิดแผลง ๆ ขนาดลองใจนายถึงขั้นขอเมีย หากพูดตรง ๆ ย่อมไม่ได้ผล เพราะจะดันทุรังเอาชนะให้ได้

เมื่อรับประทาน (ไม่ได้แปลว่ากิน) นางมณโฑ ทศพักตร์ก็อุ้มนางเหาะกลับลงกา ระหว่างทางผ่านกรุงขีดขิน ทั้งที่พาลีธิราชกำลังหารือราชกิจ ก็ยังตาไวเหลือบเห็น แล้วฉวยพระขรรค์ เหาะทะยานขึ้นนภากาศ

แลเห็นโฉมนางวิไลลักษณ์ ผิวพักตร์เพียงเทพอัปสร

เกิดความเสน่หาอาวรณ์ ร้องว่าดูก่อนอสุรา

ตรงนี้เจ้ากรุงขีดขินจะพูดต่อว่าอะไรไม่สำคัญ กลอนที่คัดมาแปลความได้ชัดว่าพาลีพาลหาเรื่องแย่งเมียชาวบ้านอีก คงติดใจจากคราวก่อนที่แย่งเจ้าสาวน้องชายตนเอง

เลือดขึ้นหน้าทั้งสิบหน้าทศพักตร์ “เหม่เหม่ไอ้ชาติเดียรัจฉาน พูดจาฮึกหาญเกินไป ท้องฟ้าเป็นทางสัญจรของผู้เหาะได้ ใช่ว่ากูไปเหยียบหัววานร จะหาเรื่องกันก็มาเลย”

ฉะกันได้ไม่ถึงหน้า ท่านยี่สิบหัตถ์มีมือมากขนาดนี้ยังเสียที เสียเมียให้พาลีผู้แคล่วคล่องว่องไวชิงนางไปได้ “นางนี้จะเป็นเมียใคร พูดใหม่ซิ ไอ้ยักษ์” พลางจุมพิตเทวียั่วอสุรี

ท้าวสิบหน้าไม่อาจอยู่สู้หน้า จำใจเหาะกลับลงกาด้วยความเจ็บใจ ไปถึงรำพึงรำพันด้วยความอาลัยอาวรณ์ สนมกำนัลเข้าหน้าไม่ติด ซ้ำยังสร้างความรำคาญใจจนท่านสิบหัวชักพระขรรค์ แผดเสียงสนั่น

อี่เอยอี่ทรลักษณ์ กูจักตัดเกล้าเกศี

พาอี่กาลี วิ่งหนีไปไย

มึงมาชวนกัน เย้ยหยันกูได้

ว่าพลางภูวไนย เลี้ยวไล่อลวน

กลอนที่คัดมานี้ ฉันทลักษณ์แปลกตา ไม่เคยเห็นที่ไหนเลย (ใช่หมายความว่าไม่มี อาจมีในเรื่องอื่นก็ได้ แค่ไม่เคยเห็นฮิ) ในรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ก็มีใช้แค่ ๒ แห่ง ทั้งสองแห่งที่ใช้ล้วนบรรยายการกระทำอย่างรวดเร็ว

ทศกัณฐ์ไม่ออกว่าราชกิจถึง ๗ เดือนด้วยความตรอมใจ กุมภกรรณกับพิเภกจึงปรึกษากัน แล้วไปนิมนต์พระโคบุตรอาจารย์ พอมาถึง ท่านสิบปากก็ฟ้องเรื่องถูกแย่งเมีย อาจารย์บอกให้ไปฟ้องอังคตมุนีผู้เป็นอาจารย์พาลี เห็นทีจะได้ภริยาคืน

เมื่อนั้น ท้าวยี่สิบกรยักษี

ได้อุบายพระมหามุนี ดั่งวารีทิพมารดองค์

จึงชำระสระสรงทรงเครื่อง อร่ามเรืองดั่งท้าวครรไลหงส์

พระกรจับศรฤทธิรงค์ เหาะตรงไปยังศาลา ฯ

คำกลอนที่เน้นตัวหนาแสดงความสำคัญ ๒ ประการ วรรคแรกสะท้อนคติไทยที่ก่อนจะทำเรื่องสำคัญ ๆ ต้องไปอาบน้ำชำระกายให้หมดจด คตินี้ยังคงอยู่ในหมู่คนชนบท แต่ชาวเมืองไม่ถือตามนี้แล้ว วรรคหลังบรรยายโฉมทศกัณฐ์ว่างามเหมือนพระพรหม ซึ่งบรรยายว่างามเช่นนี้ทุกครั้งที่เล่าผ่านเสียงเล่าและมุมมองของกวี

ครั้นท้าวสิบพักตร์เหาะไปถึงก็ครวญคร่ำร่ำไร (ตรงนี้นึกภาพตามแล้วขำทศเศียร เป็นถึงเจ้ากรุงลงกาผู้ยิ่งใหญ่กลับไปร้องโยเยเหมือนเด็ก ๆ ต่อหน้าคนไม่รู้จัก) ฤๅษีชีไพรไม่เป็นอันบำเพ็ญพรตเพราะศึกชิงนางระหว่างศิษย์ เดือนร้อนอาจารย์ต้องเหาะไปว่ากล่าวถึงขีดขิน ทว่าศิษย์ยังอิดเอื้อน เอาสีข้างเข้าถูว่า “ทศกัณฐ์ไม่เจียมตัวทูลขอพระอุมา ซ้ำเหาะข้ามเมืองข้าไม่เกรงใจ อีกอย่าง ตอนนี้นางมณโฑก็กำลังตั้งครรภ์”

ดาบสแก้ปัญหาด้วยการแหวะบุตรในครรภ์ออกใส่ท้องแพะ พาลีจึงจำยอมส่งคืนนางมณโฑ เมื่อได้เมียคืน ท้าวยี่สิบกรก็อุ้มน้องกบเหาะกลับลงกาไปวางที่พระแท่น แล้วเชยชมภิรมย์ขวัญ ซึ่งน่าคัดกลอนมาให้ดูกันเป็นขวัญตา

ว่าพลางอิงแอบแนบกายา กรลอดสอดคว้ายุพาพาล

ชมเนตรเกศแก้วแล้วรับขวัญ เชยมณฑาสวรรค์หอมหวาน

พยับคลุ้มชอุ่มอนธการ ฟ้าลั่นบันดาลคำรน

เมขลาล่อแก้วแววไว รามสูรเลี้ยวไล่ในเวหน

เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงสนั่นอึงอล ฝนสวรรค์พรอยพรมมาลี

บทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยส่วนใหญ่มักบรรยายเปรียบกับภาพธรรมชาติเช่นนี้ เพื่อเลี่ยงความอุจาด ทว่ารามเกียรติ์มีสิ่งที่แปลกกว่าเรื่องอื่น ๆ คือหลังเสพสมภิรมย์หมาย มักบรรยายความในใจของฝ่ายหญิงว่ามีสุขจนลืมสิ้นทุกสิ่ง เช่นนางมณโฑในตอนนี้

ลืมองค์พญาพานรินทร์ ลืมพิชัยขีดขินกรุงใหญ่

ลืมทั้งโอรสยศไกร ลืมฝูงนางในกำนัล

หลังจากนั้นท่านสิบปากก็อยู่กินกับน้องกบอย่างมีความสุข คำน้อยมิเคยว่าให้หมางใจ ทว่าศึกชิงนางครั้งนี้สร้างปมแค้นฝังใจทศกัณฐ์ ต้องตามล้างอย่างพิสดารอีกหลายครั้งกว่าจะหายแค้น

Featured Posts
bottom of page