รามเกียรติ คลังภูมิปัญญาสยาม ตอนที่ ๑ กำเนิดทศกัณฐ์
ตอนที่ ๑ กำเนิดทศกัณฐ์
การอ่านวรรณคดีไทยให้สนุก โดยเฉพาะเรื่องยาว ๆ อย่างรามเกียรติ์ ไม่จำเป็นต้องอ่านตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะมักจะอ่านกันไม่รู้เรื่องและชวนหลับ เนื่องจากมีตัวละครมาก ย้อนไปถึงรุ่นปู่รุ่นทวดของตัวเอก ทว่าควรจับบทตั้งแต่ตอนนี้
มาจะกล่าวบทไป ถึงนนทกน้ำใจกล้าหาญ
ตั้งแต่พระสยมภูวญาณ ประทานให้ล้างเท้าเทวา
อยู่บันไดไกรลาสเป็นนิจ สุราฤทธิ์ตบหัวแล้วลูบหน้า
บ้างให้ตักน้ำล้างบาทา บ้างถอนเส้นเกศาวุ่นไป
จนผมโกร๋นโล้นเกลี้ยงถึงเพียงหู ดูเงาในน้ำแล้วร้องไห้
ฮึดฮัดขัดแค้นแน่นใจ ตาแดงดั่งแสงไฟฟ้า
เป็นชายดูดู๋มาหมิ่นชาย มิตายจะได้มาเห็นหน้า
คิดแล้วก็รีบเดินมา เฝ้าพระอิศราธิบดี ฯ
เนื้อความไม่มีอะไรยาก มีที่ยากแค่ชื่อตัวละคร พระสยมภูวญาณและพระอิศราธิบดีก็คือพระอิศวร ซึ่งยังมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีกมาก เช่น พระศุลี เจ้าไตรโลกา พระปิ่นไกรลาสสิงขร พระทรงญาณ ฯลฯ ส่วนสุราฤทธิ์หมายถึงเหล่าเทวดา ไม่ใช่พวกขี้เมาผู้ชอบหาเรื่องรังแกคนที่ด้อยกว่าฮิ เอ...หรือว่าใช่นิ
ตอนเล่าเรื่องนี้ครั้งแรก ครูหนอนฯ ไม่ได้อธิบายกลอนที่ยกมา เพราะคิดว่าความชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่พอเห็นคนแกล้งไม่เข้าใจไปแต่งตำราเข้าข้างฝ่ายเทพว่าเพียงแต่สัพยอกหยอกเล่น ก็เลยต้องขอบอกว่าคนไทยแต่เดิมถือหัวเป็นของสูง อย่าว่าแต่ทำถึงเพียงนี้เลย แค่เหยียบเงาหัวบนพื้นก็ต้องเอาเรื่องกันถึงที่สุดแล้ว
เมื่อนนทกไปเฝ้าพระอิศวร ก็กราบทูลอ้างความชอบตามที่ทำหน้าที่มาช้านาน ขอโปรดประทานนิ้วเพชร ซึ่งได้สมมาดปรารถนา (เรื่องใครขออะไร พระศุลีก็ประทานให้ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าพระองค์ขาดวิจารณญาณ หากอธิบายให้เข้าใจถูกตอนนี้ก็จะยืดยาวความ ฉะนั้นจะอธิบายอย่างละเอียดตอนเกร็ดเรื่องยักษ์ ๆ)
นิ้วเพชรนี้มีฤทธิ์ชี้ใครก็ตาย แต่นนทกยังไม่ไปล้างแค้นทันที กลับมานั่งล้างเท้าให้บรรดาเทวดาตามเดิม เหล่าสุราฤทธิ์ก็จับหัวสั่นเล่น แล้วหัวเราะเยาะเย้ยเฮฮา นนทกสุดคิดที่จะอดกลั้น จึงขบฟันชี้นิ้วไป ทว่าทำเกินกว่าเหตุ เพราะเล่นชี้กราดไม่เลือกหน้า
ต้องสุบรรณเทวานาคี ดั่งพิษอสุนีไม่ทนได้
ล้มฟาดกลาดเกลื่อนลงทันใด บรรลัยไม่ทันพริบตา ฯ
พระอินทร์เห็นครุฑเทวดานาคตายดารดาษ ก็ไปทูลฟ้องพระอิศวร พระองค์จึงตรัสแก่พระนารายณ์ว่าเชิญไปสังหารไอ้อาธรรม์
พระนารายณ์รับคำสั่ง แล้วถวายบังคมลา ออกมาแปลงกายเป็นโฉมนางเทพอัปสร อ้อนแอ้นอรชรเฉลิมศรี ไปรอนนทกในทางที่จะเดินผ่าน พอเหลือบเห็นสาวสวย ฝ่ายชายอดใจไม่ไหวเข้าไปเกี้ยวพา นางเทพนิมิตก็ใช้มารยาหญิงหลอกล่อให้มารำตามกัน นนทกหลงกลฟ้อนตามตั้งแต่ท่าเทพพนม ปฐมพรหมสี่หน้า สอดสร้อยมาลาเฉิดฉิน จนถึงท่านาคาม้วนหางวง ชี้ตรงมาถูกเข่าตนเอง ขาหักล้มลงทันใด
พระนารายณ์กลายร่างเดิม แกว่งตรีจะตัดหัว นนทกพ้อว่า
เหตุใดมิทำซึ่งหน้า มารยาเป็นหญิงไม่บัดสี
หรือว่ากลัวนิ้วเพชรนี้ จะชี้พระองค์ให้บรรลัย
แล้วเสริมว่าตนมีแค่สองมือ มีหรือจะสู้สี่กรได้ พระนารายณ์จึงว่าให้มึงไปเกิดใหม่มีสิบเศียรยี่สิบกร กูจะเป็นมนุษย์สองหัตถ์ ตามไปราญรอนให้สิ้นโคตรวงศ์ แล้วตัดเศียรกระเด็นไป มาถือกำเนิดใหม่เป็นทศกัณฐ์จากครรภ์นางรัชดา มเหสีท้าวลัสเตียน เจ้ากรุงลงกา
ครั้นจำเริญวัย ๑๔ ปี ทศพักตร์มาทูลลาพระบิดาพระมารดาไปเรียนวิชากับพระโคบุตรฤาษี (บางครั้งกลอนเรียกพระดาบสบ้าง พระนักพรตบ้าง พระสิทธาบ้าง)
แทรกนิดว่าตัวละครในวรรณคดีไทยที่มีฤทธิ์เดชเวทมนตร์ล้วนไปฝากตัวเรียนวิชากับอาจารย์ โดยสมัครใจไปเอง พ่อแม่ไม่ต้องบังคับ เช่นเดียวกับพลายแก้วเมื่ออายุ ๑๕ ก็ให้แม่พาไปบวชเณร ฝากตัวกับขรัวบุญวัดส้มใหญ่ เรียนได้ไม่ถึงปีความรู้อาจารย์ก็สิ้นไส้ ยกตำราให้มาศึกษาต่อเอง จากนั้นไปฝากตนกับขรัวมีวัดป่าเลไลยก์ ตามด้วยขรัวคงวัดแค
กลับเข้าเรื่องรามเกียรติ์ต่อ หลังจากเรียนวิชาได้ช่วงใหญ่ อยู่มาวันหนึ่งทศกัณฐ์ลาอาจารย์ไปเที่ยวป่า มาถึงสวนพระอรชุนเห็นไม้ดอกไม้ผลดกดื่น ก็เด็ดติดมือมาตามประสาวัยซน พระอรชุนมาเห็นไม้ในสวนของตนถูกเด็ด ก็เอ็ดตะโรว่า “เฮ้ย ไอ้ยักษ์มึงชื่ออะไร บ้านช่องอยู่ที่ไหน จึงบังอาจมาหักต้นไม้ในสวนกูผู้มีฤทธิ์เดช กูจะฆ่ามึงเสียบัดนี้”
เด็กชายทศกัณฐ์ตอบความไป แล้วแจงว่าไม่รู้ว่าเป็นสวนของใคร คิดว่าเป็นไพรพนาลี (น้ำเสียงแฝงนัยเหน็บแนมอยู่ในทีว่าสวนอะไรวะ เจ้าของปล่อยให้รกอย่างกับป่า)
ว่าแล้วก็สู้กัน มีหรือที่หนุ่มละอ่อนจะสู้เทพผู้ยิ่งใหญ่ได้ พระอรชุนแผลงศรกลายเป็นภุชงค์ (นาค) ไปรัดกายาทศพักตร์ก่อนพาเหาะไป
การต่อสู้ด้วยฤทธิ์เดชเวทมนตร์ในวรรณคดีไทยมักเสกสัตว์ไปทำร้ายศัตรู รามเกียรติ์ใช้บ่อย ๒ ตัวคือนาคกับครุฑ ส่วนขุนแผนมีมนตร์เสกใบมะขามเป็นต่อแตนไปสู้ข้าศึก (น้อง ๆ ที่คิดจะเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีควรเรียนรู้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษเรา เช่นเดียวกับที่นักเขียนต่างประเทศเรียนรู้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษเขา)
ระหว่างพระโคบุตรนั่งเข้าฌานอยู่ในอรัญกุฎี ได้ยินเสียงอึกทึก เอะใจว่าอาจเกิดเรื่องกับศิษย์รัก จึงเหาะไปดู พอเห็นทศกัณฐ์ถูกพระอรชุนจับมัดเหาะมา จึงถามความแล้วขอโทษแทน พระอรชุนใจอ่อนยอมปล่อยตัวทศพักตร์ ผู้ไม่ตายทว่าขายหน้าทั้งสิบพักตร์ และเป็นความแค้นที่ไม่อาจชำระ เนื่องจากต่อมาไม่นานเทพอรชุนตายไปก่อนที่ทศกัณฐ์จะได้ทันล้างแค้น
เหตุการณ์ทั้งตอนเป็นนนทกและทศเศียรล้วนถูกฝ่ายเทพหรือพวกที่ชอบอ้างตัวว่าอยู่ฝ่ายธรรมะหาเรื่องก่อน ทั้งยังเกิดเหตุซ้ำ ๆ ทำนองเดียวกันอีกหลายครั้ง และเขียนให้เห็นจะจะ ครูหนอนฯ จึงเห็นว่าเราไม่ควรมองเรื่องรามเกียรติ์ว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่น่าจะมองว่าผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ให้ตนอยู่ฝ่ายธรรมะได้เสมอครับ ท่านผู้ชม
พี่น้องทศพักตร์
มีเพื่อนประเภทรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม (ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ว่า (สํา) ก. เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร.) มาถามครูหนอนฯ ว่าทศกัณฐ์มีพี่น้องกี่ตน ชื่อเรียงเสียงไรบ้าง ครูหนอนฯ ใบ้กิน เนื่องจากไม่เคยคิดจำ เพราะจะจำเอาไปทำอันหยังหวา ทว่าเมื่อขอมาก็จัดให้ฮิ โดยกลับบ้านมาเปิดต้นฉบับดู ถึงรู้ว่าท้าวสิบหน้ามีน้องท้องเดียวกัน ๖ ตน เรียงตามลำดับกลอน ได้แก่ พิเภก กุมภกรรณ ทูต ขร ตรีเศียร และนางสำมนักขา ปรากฏในบทกลอนตอนกำเนิดพิเภกว่า
ให้ชื่อพิเภกกุมารา มีสติปัญญาแหลมหลัก
แต่ฤทธิ์นั้นอ่อนหย่อนนัก ไม่เหมือนทศพักตร์กุมภกรรณ
ทูตขรตรีเศียรวรนุช ล้วนมีฤทธิรุทรแข็งขัน
อันนางสำมนักขานั้น เป็นน้องสุดครรภ์ลงมา
ส่วนพี่ของท่านยี่สิบกรมี ๔ ตน เป็นชายล้วน เป็นพี่คนละท้อง พ่อเดียวกัน ปรากฏในกลอนก่อนกล่าวถึงนนทก ดังนี้
อันบุตรสุนนทานั้น ชื่อกุเรปันอสุรี
ฝ่ายเทพนาสูรเรืองฤทธิ์ ลูกจิตรมาลาโฉมศรี
บุตรสุวรรณมาลัยเทวี มีนามชื่ออัครธาดา
อันโอรสนางวรประไพ ให้ชื่อมารันยักษา
หมายเหตุ คุณครูไม่ควรนำเรื่องชื่อพี่น้องทศกัณฐ์มาออกสอบ เพราะคุณครูเองยังตอบไม่ได้เลยฮิ