Project Description

 

 

กำหนดการโครงการเพิ่มพูนความรู้แก่นักแปลและล่าม ครั้งที่ ๔

วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ณ ห้อง ๔๐๓ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

 

๘.๐๐ – ๘.๔๕ น.           ลงทะเบียนรับอาหารว่าง

๘.๔๕ – ๙.๐๐ น.           ประธานกล่าวเปิดสัมมนา

๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น.         บรรยาย “จากโตเกียวสู่บางกอก – การแปลข้ามวัฒนธรรม” โดย อรรถ บุนนาค

๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น.      พักรับประทานอาหารกลางวันตามอัธยาศัย

๑๒.๓๐ – ๑๓.๐๐ น.      ลงทะเบียน

๑๓.๐๐ –๑๕.๔๕ น.       บรรยาย “การแปลในบริบทสังคม – วัฒนธรรม” โดย ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร

๑๕.๔๕ – ๑๖.๐๐ น.      พักรับประทานอาหารว่าง

๑๖.๐๐ – ๑๖.๔๕ น.      บรรยาย “การเตรียมตัวสอบมาตรฐานอาชีพนักแปล” โดย สมาพร แลคโซ

๑๖.๔๕ – ๑๗.๐๐ น.      รับสมัครสอบมาตรฐานอาชีพนักแปลขั้น ๔

—————————————–

ประวัติย่อวิทยากร

คุณอรรถ บุนนาค

ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รุ่น 138 มัธยมปลายจากโรงเรียนเซนต์จอห์นวิทยาลัย ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาด้านภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยคิวชู

หลังจากนั้นได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่นอีก 2 ครั้งไปศึกษาระดับปริญญาโทด้านวรรณคดี ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศและไปศึกษาระดับปริญญาเอกทางสาขาเดิมที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

ประสบการณ์ผ่านงานมาตั้งแต่เลขาฯ ล่าม นักแปล ออร์กาไนเซอร์ สำนักพิมพ์ พิธีกร คอลัมน์นิสต์ ดรามาเติร์ก ผู้ประสานงาน อาจารย์ บรรณาธิการต้นฉบับ จนปัจจุบันทำงานในสายการเงิน โดยเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจอยู่ที่องค์กรของรัฐแห่งหนึ่ง

—————————————

ประวัติวิทยากร

ผศ.ดร.อรองค์  ชาคร

อาจารย์อรองค์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และด้านบริหารธุรกิจจาก International Pacific College ประเทศนิวซีแลนด์ โดยทุนมหาวิทยาลัย  อาจารย์มีประสบการณ์ทำงานธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมในฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ โดยรับผิดชอบการสื่อสารองค์กรระหว่างการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO – Initial Public Offering) รวมทั้งการจัดทำรายงานประจำปีร่วมกับบริษัท Boston Consulting Group  ก่อนจะรับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัย Warwick ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมารับราชการที่คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ( NIDA)     โดยสอนวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์  วาทกรรมวิเคราะห์ การแปล  การสื่อสารทางธุรกิจ การสื่อสารเพื่อ CSR  ในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติของคณะ และสอนการพัฒนาทักษะการอ่านภาษาอังกฤษเชิงวิชาการให้คณะอื่น ๆ เช่น คณะบริหารธุรกิจ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถิติประยุกต์ คณะนิเทศศาสตร์  คณะการจัดการการท่องเที่ยว และคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม  รวมระยะเวลาเป็นข้าราชการ 20 ปี ช่วงปี 2554 – 2555  สำนักบริหาร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ยืมตัวมาเป็นรักษาการผู้อำนวยการ

อาจารย์อรองค์ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหารระหว่างปี 2550 ถึงปลายปี 2552  และสร้างผลงานวิจัยด้านวาทกรรมวิเคราะห์และวรรณกรรม  อาทิ  รายงานวิเคราะห์โครงการนโยบายภาษาแห่งชาติของราชบัณฑิตยสถาน โดยทุนสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ   รายงานวิจัยเส้นทางสู่ความเป็นเลิศทางวรรณศิลป์ของนักเขียนไทยร่วมสมัย รวมทั้งเขียนบทความวิชาการภาษาอังกฤษ โดยรับเชิญไปนำเสนอบทความในที่ประชุมวิชาการหลายแห่งในยุโรป เอเชียแปซิฟิค และสหรัฐอเมริกา  มีงานเขียนหลายเรื่องตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ   ในปี 2553 อาจารย์อรองค์ได้รับทุนจากคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติในฐานะบรรณาธิการวารสาร NIDA Journal of Language and Communication เพื่อผลิตวารสารวิชาการปีละสองเล่ม โดยนำเข้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และวางจำหน่าย เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์     อาจารย์ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความให้วารสารมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ   และเป็นบรรณาธิการวรรณกรรมรวมเรื่องสั้น นิยาย และรวมบทกวีนิพนธ์ ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ (กวีซีไรต์ พ.ศ. 2547) โดยหลายเล่มได้รับรางวัลระดับชาติ อีกทั้งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ จีน และเวียดนาม

สำหรับงานบริการวิชาการนั้น อาจารย์อรองค์เคยเป็นที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการทรัพย์สินทางปัญญา ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร และช่วยงานด้านสุนทรพจน์แก่เลขาธิการวุฒิสภา  เคยร่วมจัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่ความเป็นมืออาชีพด้านต่างประเทศ” ให้วุฒิสภาในหัวข้อการร่างสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษและการเขียนเอกสารราชการภาษาอังกฤษ  ต่อมาได้ให้เกียรติเป็น วิทยากรบรรยายในหัวข้อ Note-taking: การจับประเด็นและสื่อความภาษาอังกฤษ แก่ข้าราชการสำนักราชเลขาธิการ  ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันพัฒนาการคิด  ของสมาคมศิษย์เก่านิวซีแลนด์ ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิโมโตโรลา สหรัฐอเมริกา

ตั้งแต่ปี 2553 อาจารย์ยังเป็นนักวิชาการรับเชิญของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยร่วมจัดทำหนังสือ Thailand in the 2010s และร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านวรรณศิลป์ของประเทศไทยตามลำดับ  รวมทั้งเป็นกรรมการคัดสรรการแปลวรรณกรรมเยาวชน นอกจากนี้ ยังเป็นนักแปลและบรรณาธิการรับเชิญให้กระทรวงวัฒนธรรมในการแปลวรรณกรรมไทยออกสู่อาเซียน

สำหรับทุนและรางวัลทางวิชาการนั้น อาจารย์เคยได้รับทุนเรียนดี และรางวัลการแปลนิทานชาดกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ    ทุนเงินรางวัลสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย Warwick ในการนำเสนอผลงานวิจัยปริญญาเอก ณ ประเทศอิตาลี สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก  และรางวัลชมเชยจากการประกวดบทความวิชาการประจำปี 2551 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ปัจจุบันอาจารย์สอนวิชาทฤษฎีการแปลและการปฏิบัติในหลักสูตรปริญญาโทภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาอาชีพของนิด้า และรับเชิญไปสอนการแปลระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นประจำ  นอกจากการสอนระดับปริญญาเอกด้านภาษาและการสื่อสารที่นิด้าแล้ว ยังรับเชิญไปสอนปริญญาเอกในสาขานี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาวาทกรรมเชิงธุรกิจ และการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และดุษฎีนิพนธ์ อีกด้วย

Project Details