Project Description
หลักสูตร “ศาสตร์และศิลป์ในการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ 1” (Literary Translation 1)
อบรม วันเสาร์ที่ 5 และ19 ธันวาคม 2563 เวลา 9:00-16:30 น. รวม 12 ชั่วโมง
ณ ห้องประชุมสปาฟา ซอยวัดเทวราชกุญชร ถนนศรีอยุธยา เทเวศร์ ดุสิต กทม.
หลักการและเหตุผล
วรรณศิลป์ในงานวรรณกรรมและการใช้ภาษานั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน แม้การใช้ภาษาไทยอันเชื่อมโยงกับนิสัยการเขียนการอ่านหนังสือของคนรุ่นใหม่เริ่มแปรเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบัน แต่ผลงานวรรณกรรมของไทยก็มิได้ลดน้อยลง นอกจากนี้ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ทำให้ภาครัฐเข้ามาให้ความสำคัญกับการแปลวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ ภาคเอกชน อันได้แก่ สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็เล็งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่งานเขียนของไทยออกเป็นภาษาต่างประเทศ โดยมีการแปลและตีพิมพ์บทกวี เรื่องสั้นและนวนิยาย เป็นภาษาอังกฤษแล้ว เช่น เขี้ยวเสือไฟ ของมาลา คำจันทร์ ปูนปิดทอง ของกฤษณา อโศกสิน อสรพิษและเรื่องสั้นอื่นๆ ของแดนอรัญ แสงทอง แม่น้ำรำลึก ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ความสุขของกะทิ ของงามพรรณ เวชชาชีวะ ความน่าจะเป็น ของปราบดา หยุ่น และนวนิยายหลายเรื่องของชาติ กอบจิตติ เช่น คำพิพากษา พันธุ์หมาบ้า ฯลฯ โดยการแปลวรรณกรรมถือเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวในสังคม ความคิด ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของไทย ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมและสามารถต่อยอดเป็นทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยต่อไปได้
สาระสำคัญของหลักสูตร
การฝึกวิเคราะห์และตีความตัวบทงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัย และแปลต้นฉบับผ่านการฝึกประเมินคุณค่าและบรรณาธิกรบทแปล โดยมุ่งเน้นอรรถรส ลีลาภาษา ความเที่ยงตรงต่อสารและเจตนาของผู้เขียน ตลอดจนความเหมาะสมของระดับภาษาที่ใช้ในบทแปล ความเหมาะสมของการเลือกคำ สํานวน และรูปประโยค (วากยสัมพันธ์) รวมทั้งการสื่อความหมายในแง่วรรณศิลป์ผ่านภาษาโวหารภาพพจน์จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ
กลุ่มเป้าหมาย
นักแปลอาชีพ หรือผู้ที่มีความสนใจในการแปลงานวรรณกรรมเป็นอาชีพเสริม และ/หรืออาชีพหลัก รวมทั้งผู้สนใจการแปลวรรณกรรมไทยเป็นงานอดิเรก รวมทั้งผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะทางวรรณศิลป์ภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การเป็นนักแปลวรรณกรรมมืออาชีพ รวมถึงนักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ครู – อาจารย์ และผู้ที่มีความสนใจทั่วไปที่สนใจแปลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาอังกฤษและมีพื้นความรู้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยระดับดีถึงดีมาก
วิทยากร – ผศ.ดร. อรองค์ ชาคร อาจารย์ประจำคณะภาษาและการสื่อสาร นิด้า
ผู้ประสานงานหลักสูตร ปติมา รัชตะวรรณ อีเมล thaitiat@gmail.com Line: @thaitiat
วิธีการอบรม
(1) บรรยายและอภิปรายในภาคทฤษฎีและการถ่ายทอดระบบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษในงานวรรณกรรม รวมถึงข้อแนะนำ ข้อควรจำ และข้อควรระวัง
(2) ฝึกปฏิบัติจริงผ่านแบบฝึกหัดการแปลงานวรรณกรรม (ไทย-อังกฤษ) โดยมีการตรวจวิเคราะห์ อธิบายและให้ข้อเสนอแนะในงานแปลที่ผู้เรียนทำส่ง พร้อมแนะแนวทางแก้ไขปรับปรุง ฯลฯ
ค่าอบรม
- สมาชิกสมาคมฯ ๒,๔๐๐ บาท (สมัครสมาชิกตลอดชีพ ๒,๐๐๐ บาท ได้ทาง www.thaitiat.org)
- บุคคลทั่วไป ๒,๘๐๐ บาท
ประวัติวิทยากร
อรองค์ ชาคร (Ora-Ong Chakorn)
ผศ.ดร.อรองค์ ชาคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้านบริหารธุรกิจจาก International Pacific College ประเทศนิวซีแลนด์ โดยทุนมหาวิทยาลัย ระหว่างเรียนชอบเขียนกลอนประจำบอร์ดสวนอักษร หลังเรียนจบได้ทำงานธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมในฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ดูแลการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งจัดทำรายงานประจำปีร่วมกับบริษัท Boston Consulting Group ก่อนจะรับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกด้านภาษาศาสตร์ประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัย Warwick ประเทศอังกฤษ แล้วกลับมาสอนที่คณะภาษาและการสื่อสาร นิด้า ในระดับปริญญาโทและเอก วิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ วาทกรรมวิเคราะห์ ทฤษฎีการแปล วัจนลีลาศาสตร์ การสื่อสารทางธุรกิจ และ CSR โดยมีงานสอน วิจัย และบริการวิชาการจำนวนมาก รวมถึงงานบรรณาธิการหนังสือระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายบริหาร และได้รับการยืมตัวไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหาร สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านต่างประเทศของประธานวุฒิสภาในช่วงสามปีถัดมา นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการรับเชิญของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยร่วมจัดทำหนังสือ Thailand in the 2010s และร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านวรรณศิลป์ของประเทศไทยตามลำดับ เคยรับเชิญเป็นกรรมการคัดสรรการแปลวรรณกรรมเยาวชน และตัดสินรางวัล ASEAN Young Writers Award นอกจากนี้ ยังเป็นนักแปลและบรรณาธิการรับเชิญให้กระทรวงวัฒนธรรมในการแปลวรรณกรรมไทยออกสู่อาเซียนเป็นครั้งคราว ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยดูแลด้านวิเทศสัมพันธ์ และสนใจทำงานเขียนงานแปลอย่างจริงจัง
ผลงานแปลที่ได้รับการตีพิมพ์
– Chakorn, O. (2016). Trans. “Bulan Sastra: Shimmering Words”. Anthology of Thai and Indonesian Short Stories and Poems”. Bangkok: Office of the Contemporary Art and Culture, Ministry of Culture. (10 poems & 5 short stories)
– Chakorn, O. (2014). “Standing Fast”. In Sevikul, P., (ed.) ร้อยมาลัยร้อยใจไทย-ลาว. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากบทกวี “หยัดอยู่” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
– Chakorn, O. (2014). “Spawning Fish”. In Sevikul, P., (ed.) ร้อยมาลัยร้อยใจไทย-ลาว. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากบทกวี “ปลาตกครอก” ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์)
– Chakorn, O. (2014). “The Thing Albert Camus said (Apichart Chandaeng Didn’t Say)”. In Sevikul, P., (ed.) ร้อยมาลัยร้อยใจไทย-ลาว. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากบทกวี “สิ่งที่อัลแบร์ กามูพูด (อภิชาติ จันทร์แดงไม่ได้พูด)” ของอภิชาติ จันทร์แดง)
– Chakorn, O. (2014). “The Voice of Poets”. In Sevikul, P., (ed.) ร้อยมาลัยร้อยใจไทย-ลาว. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากบทกวี “เสียงกวี” ของขุน รำยอง)
– Chakorn, O. (2014). “I am John, Wandering from the Moon River”. In Sevikul, P., (ed.) ร้อยมาลัยร้อยใจไทย-ลาว. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากบทกวี “ผมจอห์น รอนแรมจากลุ่มน้ำมูล” ของโขงรัก คำไพโรจน์)
– Chakorn, O. (2013). “Those Poor Hands”. In Sevikul, P., Saengkrajang, C. and Chakorn, O. (eds.) Lotus Bloom in the Stream of Literature. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากเรื่องสั้น “เสียดายมือ” ของอุรุดา โควินทร์)
– Chakorn, O. (2013). “Coming with the Rain”. In Sevikul, P., Saengkrajang, C. and Chakorn, O. (eds.) Lotus Bloom in the Stream of Literature. Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากเรื่องสั้น “มากับลมฝน” ของนักเขียนซีไรต์-นิคม รายยวา)
– Chakorn, O. (2012). “Exhilarating Growth from Within”. (แปลจากบทกวี “เติบโตเบิกบานจากด้านใน” ของกวีซีไรต์-เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์) ตีพิมพ์ในรวมบทกวีนิพนธ์ “แม่น้ำเดียวกัน” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ในดวงใจ พ.ศ. 2555. และในหนังสือรวมบทกวีซีไรต์นานาชาติในงาน Poetry Reading 2012 ณ วังสวนผักกาด พ.ศ. 2553 จัดพิมพ์โดยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์.
– Chakorn, O. (2011). “Waiting for Words”. In สรณัฐ ไตลังคะ และคนอื่นๆ (eds.) วรรณมาลัย: รวมเรื่องสั้นไทยร่วมสมัยหลัง พ.ศ. 2475 จาก 41 นักเขียนไทย. (Anthology of Thai Short Stories Since 1930s by 41 Thai Writers, English editors: Karl E. Weber & Marcel Barang). Bangkok: Ministry of Culture. (แปลจากเรื่องสั้น “คอยถ้อยคำ” ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์)
ผลงานบรรณาธิการงานแปล
– อรองค์ ชาคร. (อยู่ระหว่างการตีพิมพ์). บรรณาธิการนวนิยาย “ลูกป่า” (The Children of the Wild) ฉบับสองภาษา (ไทย – อังกฤษ) ของศิลปินแห่งชาติ มาลา คำจันทร์. แปลโดย ดร. ภัททิยา ยิมเรวัตร และ ดร. พัชร์สิตา เจริญรักษ์หิรัญ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.
– อรองค์ ชาคร. (2560). บรรณาธิการนวนิยาย “เขี้ยวเสือไฟ” (The Fang of the Fire Tiger) ฉบับสองภาษา (ไทย – อังกฤษ) ของศิลปินแห่งชาติ มาลา คำจันทร์. แปลโดย ดร. ภัททิยา ยิมเรวัตร และ ดร. พัชร์สิตา เจริญรักษ์หิรัญ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เคล็ดไทย.
– อรองค์ ชาคร. (2558). บรรณาธิการรวมบทกวีนิพนธ์รางวัลซีไรต์ “แม่น้ำรำลึก” (Reminiscence of the River) ฉบับสองภาษา (ไทย – อังกฤษ) ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์. แปลโดย รศ.มาลิทัต พรหมทัตตเวที. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ในดวงใจ.
อรองค์ ชาคร. (2558). บรรณาธิการรวมเรื่องสั้น “นิค อาดัมส์” (Nick Adams) ของ Earnest Hemingway แปลโดย ดลสิทธิ์ บางคมบาง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คมบาง.
– อรองค์ ชาคร. (2556). บรรณาธิการภาษาอังกฤษของหนังสือวรรณมาลัยรวมเรื่องสั้นและบทกวีไทย-เวียดนาม 3 ภาษา “ดอกบัวบานในธารวรรณกรรม” (Lotus Bloom in the Stream of Literature). กรุงเทพฯ: สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม