สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

ประวัติสมาคม

สมาคมนักแปลและล่ามเป็น สมาคมวิชาชีพ สมาชิกประกอบด้วยนักแปล ล่าม สำนักพิมพ์
และบุคคล/ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแปลและการล่าม ตลอดจนบุคคลทั่วไป/ องค์กรที่สนใจ
การแปลและการล่าม

วัตถุประสงค์

  • เป็นศูนย์รวมของนักแปลและล่าม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการแปลและการล่าม
  • ช่วยพัฒนามาตรฐานการแปลและการล่าม
  • ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาด้านการแปลและการล่าม
  • ประสานความร่วมมือและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแปล และการล่าม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ



สมาคม ฯ ถือกำเนิดมาจากชมรมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้ทำงานแปลและผลิตหนังสือแปล เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๘ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สิทธา พินิจภูวดล เป็นประธานชมรม ฯ ชมรม ฯ ได้ดำเนินงานมาอย่างเข้มแข็ง ได้รับความสนใจจากประชาชน นักวิชาการ นักแปล และนิสิตนักศึกษา เป็นจำนวนมาก และได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ชมรม ฯ ได้จัดอบรม สัมมนา และกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ตามความต้องการของสมาชิกและผู้สนใจด้านการแปลและการล่าม รวมทั้งร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและเอกชนทำงานพัฒนาหนังสือแปลและการแปล

เมื่อชมรม ฯ มีสมาชิกจำนวนมากขึ้น และทำงานอย่างเข้มแข็งเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ชมรม ฯ จึงได้จัดตั้งเป็นสมาคมนักแปลและล่าม โดยได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๓  เลขทะเบียนสมาคม ล.๓๙๗๗/๒๕๔๓

เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๔ นับเป็นวันมหามงคลยิ่ง ด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาเสด็จเป็นประธานเปิดสมาคมนักแปลและล่าม และทรงเจิมป้ายสมาคม ฯ ณ โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพมหานคร สมาคม ฯ จึงถือวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๔๓ เป็นวันเกิดของสมาคม ฯ

สมาคม ฯ ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารทุก ๒ ปี

ปัจจุบันสมาคม ฯ มีสมาชิกทั่วประเทศ จึงได้รับอนุญาตให้เป็น ” สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย “

สมาคม ฯ มีบทบาทในกระบวนการพัฒนาหนังสือแปล การประกวดหนังสือแปล การพัฒนานักแปล และส่งเสริมการอ่านหนังสือแปล โดยร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้บังเกิดผลดีแก่สถานภาพของนักแปลและล่าม ทั้งในส่วนบุคคลและส่วนรวม สมาคม ฯ ได้จัดกิจกรรมหลายรูปแบบและหลากหลายมิติ ทั้งกิจกรรมเพื่อสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและกิจกรรมเพื่อสังคม อาทิ :

  • อบรมการแปลระดับพื้นฐาน และระดับเฉพาะทาง
  • อบรมการล่าม
  • อบรมเกี่ยวกับบรรณาธิการกิจงานแปล
  • การประกวดหนังสือแปล
  • จดหมายข่าวเพื่อเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของสมาคม ฯ และเป็นสื่อกลางระหว่างสมาชิกและสมาคม ฯ
  • เสวนา/ บรรยาย/ อภิปราย/ ปาฐกถา เกี่ยวกับการแปล การล่าม และบรรณาธิการกิจ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
  • กิจกรรมประชุมสัญจร
  • กิจกรรมส่งเสริมการอ่านหนังสือแปล
  • ประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมวิชาการทุกปี
  • โครงการจัดอบรมให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ขอความร่วมมือ
  • นิทรรศการนักแปล การแปล และการล่าม
  • กิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนผ่านงานแปล
  • กิจกรรมสาธารณประโยชน์ โดยจัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • กิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์เพื่อให้สมาชิกพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันใน บรรยากาศรื่นรมย์

กิจกรรมของสมาคม ฯ เปิดกว้างสำหรับทุกท่านที่สนใจการแปลและการล่าม แม้มิได้ปฏิบัติงานด้านนี้โดยตรงก็ตาม

ข้อบังคับของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๙ และได้จดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับนี้ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐)

ข้อ ๑ สมาคมฯ มีชื่อว่า “สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อว่า “ส.ป.ล.ท.” ชื่อสมาคมฯ เป็นภาษาอังกฤษว่า “The Translators and Interpreters Association of Thailand” ใช้อักษรย่อว่า “THAITIAT”

ข้อ ๒ เครื่องหมายของสมาคมฯ เป็นรูปศิลาจารึกตั้งซ้อนกัน ๒ แผ่น ภายในศิลาจารึกมีตัวอักษรย่อภาษาไทยของสมาคมฯ และมีชื่อสมาคมฯ เป็นภาษาไทยและตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษล้อมรอบศิลาจารึก

ข้อ ๓ สำนักงานสมาคมฯ ตั้งอยู่ที่ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐

ข้อ ๔ วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เพื่อ

๔.๑ เป็นศูนย์รวมของนักแปลและล่าม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการแปลและล่าม

๔.๒ ให้คำแนะนำเพื่อประโยชน์ของนักแปลและล่าม

๔.๓ พัฒนามาตรฐานการแปลและการล่าม

๔.๔ ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาด้านการแปลและล่าม

๔.๕ รับรองคุณภาพนักแปลและล่าม

๔.๖ ร่วมมือและประสานประโยชน์ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแปลและการล่ามทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

๔.๗ กิจการใด ๆ ของสมาคมฯ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ข้อ ๕ ประเภทและคุณสมบัติของสมาชิก

๕.๑ สมาชิกแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๕.๑.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งประกอบวิชาชีพการแปลและ/หรือการล่าม และผู้สนใจด้านการแปลและ/หรือการล่าม

๕.๑.๒ สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดาผู้ถือสัญชาติอื่น ซึ่งประกอบวิชาชีพการแปลและ/หรือการล่าม และผู้สนใจด้านการแปลและ/หรือการล่าม

๕.๑.๓ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย หรือถือสัญชาติอื่นที่คณะกรรมการบริหารเชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ประกอบด้วย

๕.๑.๓.๑ นักแปลและล่ามผู้ได้รับรางวัลสุรินทราชา

๕.๑.๓.๒ ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการบริหารลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย ๒ ใน ๓ ของกรรมการบริหารทั้งหมดให้เป็นที่ปรึกษา

๕.๑.๓.๓ นักแปลและล่ามอาวุโส ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีคุณูปการต่อวงการการแปลและล่าม การศึกษา สังคม ที่คณะกรรมการบริหารลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย ๒ ใน ๓ ของกรรมการบริหารทั้งหมด

๕.๒ ที่ปรึกษา ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการบริหารเชิญเป็นที่ปรึกษาเฉพาะกิจ หรือตามวาระ

ข้อ ๖ สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

๖.๑ เป็นผู้อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์

๖.๒ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายหรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือระหว่างเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เท่านั้น

ข้อ ๗ ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ

๗.๑ สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ ๒,๐๐๐ บาท

๗.๒ สมาชิกกิตติมศักดิ์สนับสนุนตามอัธยาศัย

ข้อ ๘ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ

๘.๑ สมาชิกสามัญ ผู้ประสงค์สมัครเป็นสมาชิกสามัญของสมาคมฯ ต้องกรอกใบสมัครระบบออนไลน์หรือเอกสารตามแบบของสมาคมฯ พร้อมระบุเลขประจำตัวประชาชน และแสดงหลักฐานการชำระค่าสมาชิก ทั้งนี้ สมาชิกภาพจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อนายทะเบียนตอบรับแล้วเท่านั้น

๘.๒ สมาชิกสมทบ ผู้ประสงค์สมัครเป็นสมาชิกสมทบของสมาคมฯ ต้องกรอกใบสมัครระบบออนไลน์หรือเอกสารตามแบบของสมาคมฯ พร้อมระบุเลขที่หนังสือเดินทาง และแสดงหลักฐานการชำระค่าสมาชิก ทั้งนี้ สมาชิกภาพจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อนายทะเบียนตอบรับแล้วเท่านั้น

ข้อ ๙ ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน พร้อมกับส่งใบสมัครและชำระเงินในวันที่สมัคร

ข้อ ๑๐ สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รับหนังสือตอบรับคำเชิญ

ข้อ ๑๑ การสิ้นสุดสมาชิกภาพ

๑๑.๑ ตาย

๑๑.๒ ลาออก

๑๑.๓ ขาดคุณสมบัติสมาชิก

๑๑.๔ คณะกรรมการบริหารลงมติให้ออก ด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย ๒ ใน ๓ ของกรรมการบริหารทั้งหมด และแจ้งให้ผู้สิ้นสุดสมาชิกภาพทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อมีเหตุอันเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น

๑๑.๔.๑ แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จในการสมัคร

๑๑.๔.๒ เมื่อกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง

ข้อ ๑๒ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

๑๒.๑ ได้รับประโยชน์จากสมาคมฯ ตามเงื่อนไขที่สมาคมฯ กำหนดไว้

๑๒.๒ มีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมฯ

๑๒.๓ เสนอความคิดเห็นต่อสมาคมฯ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และระเบียบของสมาคมฯ

๑๒.๔ สมาชิกสามัญมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหาร ออกเสียงลงคะแนนตามระเบียบวาระการประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญ และอภิปรายเสนอความคิดเห็น ตั้งกระทู้ถาม โดยต้องมาแสดงตนใช้สิทธิดังกล่าวในที่ประชุมใหญ่เท่านั้น

๑๒.๕ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๕ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

๑๒.๖ ได้รับข่าวสารของสมาคมฯ

๑๒.๗ ได้รับหมายเลขสมาชิกสมาคมฯ

๑๒.๘ ขอตรวจเอกสารบัญชีหรือทรัพย์สินของสมาคมฯ โดยยื่นต่อเลขาธิการหรือคณะกรรมการบริหาร คำร้องนั้นต้องระบุสิ่งที่ขอตรวจและเหตุผลให้ชัดเจน แล้วลงลายมือชื่อสมาชิกผู้ขอตรวจพร้อมลายมือชื่อสมาชิกผู้รับรองไม่น้อยกว่า ๕ คน เมื่อสมาชิกตรวจเอกสาร บัญชี หรือทรัพย์สินของสมาคมฯ แล้ว ห้ามขอตรวจเรื่องเดียวกันซ้ำอีกภายในเวลา ๙๐ วันนับแต่วันที่ตรวจ

๑๒.๙ ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคมฯ และมีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ

๑๒.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคมฯ

๑๒.๑๑ ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมฯ และงดเว้นการกระทำใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมาคมฯ

ข้อ ๑๓ ให้มีคณะกรรมการของสมาคมฯ คณะหนึ่งจำนวนไม่เกิน ๒๐ คน

กรรมการนี้ต้องเป็นสมาชิกสามัญที่ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ จำนวน ๙ คน ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้

นายกสมาคม ๑ คน
อุปนายกสมาคม ๓ คน
เลขาธิการ ๑ คน
เหรัญญิก ๑ คน
สาราณียกร ๑ คน
นายทะเบียน ๑ คน
ประชาสัมพันธ์ ๑ คน

ให้คณะกรรมการบริหารที่ได้รับเลือกตั้ง พิจารณาเชิญสมาชิกสามัญให้เป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ เพิ่มเติมรวมทั้งหมดไม่เกิน ๒๐ คน โดยให้ดำรงตำแหน่งตามวาระ

๑๓.๑ นายกสมาคมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมฯ ตามมติกรรมการบริหารสมาคมฯ  เป็นผู้แทนสมาคมฯ ในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ

๑๓.๒ อุปนายกสมาคมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมฯ ในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมฯ ได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯ เมื่อนายกสมาคมฯ ไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯ ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

๑๓.๓ เลขาธิการทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมฯ ทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ ในการปฏิบัติกิจการของสมาคมฯ ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมฯ ตามมติของที่ประชุมกรรมการบริหารสมาคมฯ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมฯ

๑๓.๔ เหรัญญิกมีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมฯ เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมฯ และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมฯ ไว้เพื่อการตรวจสอบ

๑๓.๕ สาราณียกรมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำหนังสือ ข่าวสาร วารสารต่าง ๆ ของสมาคมฯ

๑๓.๖ นายทะเบียนมีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมฯ ประสานงานกับเหรัญญิก ในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมฯ จากสมาชิก

๑๓.๗ ประชาสัมพันธ์มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมฯ ให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย

๑๓.๘ กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมฯ เป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อ ๑๔ คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี และอาจได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่อจากวาระเดิมได้

ให้คณะกรรมการชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่และเริ่มวาระการดำรงตำแหน่งนับจากวันที่ได้รับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการชุดเดิมส่งมอบหน้าที่ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๔ วัน

อนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ติดต่อกันได้เพียง ๒ วาระเท่านั้น

ข้อ ๑๕ ตำแหน่งกรรมการสมาคมฯ ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ ก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ ๑๖ กรรมการอาจพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

๑๖.๑ ตาย

๑๖.๒ ลาออก

๑๖.๓ กรรมการบริหารมีมติเกินกว่า ๒ ใน ๓ ให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ ๑๗ กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ ให้กรรมการที่ออกจากตำแหน่งส่งมอบหน้าที่แก่คณะกรรมการภายใน ๗ วัน

ข้อ ๑๘ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

๑๘.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติได้โดยจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

๑๘.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ

๑๘.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการหรือกรรมการเฉพาะกิจได้ โดยให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

๑๘.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ

๑๘.๕ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมฯ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

๑๘.๖ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของ

สมาคมฯ ตลอดจนหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมฯ ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

๑๘.๗ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องมีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

๑๘.๘ จัดการบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคมฯ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและทำหนังสือเวียนให้สมาชิกรับทราบ

๑๘.๙ มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ ๑๙ คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย ๑ ครั้ง ภายในสองเดือน ทั้งนี้ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับ   การบริหารกิจการของสมาคมฯ

ข้อ ๒๐ การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมครั้งแรกไม่ครบองค์ประชุม ให้เลขาธิการแจ้งการประชุมต่อไปภายใน ๗ วัน และให้ถือว่ากรรมการบริหารที่เข้าประชุมนับตั้งแต่ ๓ คนขึ้นไปเป็นองค์ประชุมของที่ประชุมคณะกรรมการ  ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้ใช้ คะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๑ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง   ทำหน้าที่เป็นเป็นประธานในการประชุมครั้งนั้น

ข้อ ๒๒ การประชุมใหญ่ของสมาคมฯ มีดังนี้

๑.ประชุมใหญ่สามัญ

๒.ประชุมใหญ่วิสามัญ

๓.ประชุมใหญ่วิชาการ

ข้อ ๒๓ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ ๑ ครั้ง ภายในรอบบัญชีของปีถัดไป

ข้อ ๒๔ คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ โดยให้เลขาธิการสมาคมฯ เป็นผู้แจ้งกำหนดการประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน

ข้อ ๒๕ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีควรมีระเบียบวาระการประชุมดังนี้

๒๕.๑ คณะกรรมการแถลงกิจการของสมาคมฯ ในรอบปี

๒๕.๒ พิจารณางบดุลประจำปี

๒๕.๓ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

๒๕.๔ เลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ (ในกรณีกรรมการชุดเดิมครบวาระ)

๒๕.๕ ปรึกษาพิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามญัตติที่สมาชิกเสนอ

ญัตติที่สมาชิกจะเสนอตามความในข้อ ๒๕.๕ ให้เสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารก่อนการประชุมไม่น้อยกว่า ๗ วัน เพื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาเข้าระเบียบวาระ

ข้อ ๒๖ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมด หรือ ๓๕ คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคมฯ เรียกประชุมใหญ่อีกครั้ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก    การประชุมในครั้งหลังนี้ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้น ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ ๒๗ การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้ามีคะแนนเสียงที่เท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๘ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ในปีที่มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ เมื่อจะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหาร ให้ดำเนินการดังนี้

๒๘.๑ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งประธานดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

๒๘.๒ ในการเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ สมาชิกสามัญที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการบริหาร ต้องเป็นสมาชิกสามัญมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน

ข้อ ๒๙ ในการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ ถ้านายกสมาคมฯ และอุปนายกสมาคมฯ ไม่มาร่วมประชุม หรือ     ไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้เลขาธิการทำการประชุม หากเลขาธิการไม่มาร่วมประชุม ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๓๐ คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งและแต่งตั้งตามข้อ ๒๘ มีสิทธิ์แต่งตั้งกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยการดำเนินงานของสมาคมฯ ได้ตามความจำเป็น

ข้อ ๓๑ การเงินตลอดจนทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการเงินสดของสมาคมฯ ถ้ามีให้ฝากไว้ในธนาคารที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ข้อ ๓๒ การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมฯ จะต้องมีลายมือชื่อร่วมกันอย่างน้อยสองชื่อของผู้ดำรงตำแหน่งสามตำแหน่งต่อไปนี้ คือ นายกสมาคมฯ เหรัญญิก และเลขาธิการ

ข้อ ๓๓ ให้นายกสมาคม ฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคม ฯ ได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินให้ได้ครั้งละไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ฯ

ข้อ ๓๔ ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคม ฯ ได้ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน ) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคม ฯ ทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ ๓๕ เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทนร่วมกับนายกสมาคมฯ หรือผู้ทำการแทน หรือร่วมกับลายมือชื่อเลขาธิการหรือผู้ทำการแทน

ข้อ ๓๖ ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ ๓๗ ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมฯ ได้

ข้อ ๓๘ คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

ข้อ ๓๙ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคมฯ และการตราข้อบังคับของสมาคมฯ ขึ้นใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ด้วยคะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนซึ่งเข้าประชุม

ข้อ ๔๐ การเลิกสมาคมฯ จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่สมาคมฯ ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมฯ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญ ที่เข้าร่วมประชุม และองค์ประชุมจะต้องไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ ๔๑ เมื่อสมาคมฯ ต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมฯ ที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้โอนให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในกิจการของสำนักงานคณะคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือองค์กรสาธารณกุศล ตามมติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมฯ

ข้อ ๔๒ ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้นับตั้งแต่วันที่สมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ ๔๓ เมื่อสมาคมฯ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

กรรมการบริหารสมาคม

ม.ล. วีรอร วรวุฒิ
นายกสมาคมฯ

นายสถาพร ฉันท์ประสูตร (ครูหนอนฯ)
อุปนายก 1

สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธร

นายจิตติ หนูสุข
อุปนายก 2

จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นางอิฏฐพร ภู่เจริญ
อุปนายก 3

สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเรยีนาเชลีว

นางสาวพรทิตา พลทะกลาง
เลขาธิการ

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทภาษาจีน ค

นางสาวพรธีรา ศรีพัฒนธาดากุล
ผู้ช่วยฝ่ายเลขาธิการ

สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี วิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทภาษาฝร

นายวิฑูรย์ ภูริปัญญวานิช
เหรัญญิก

ประวัติการศึกษา –  Masters of sciences in Management,  THE UNIVERSITY OF TSUKUBA, Tsukuba city, Japan (๒๕๔๔) ด้วยท

นางสาวสุพัตรา อุดมสินศิริกุล
ผู้ช่วยเหรัญญิก

การศึกษา อนุบาล – ประถมศึกษา          โรงเรียนอนุชนศึกษา, กาญจนบ

นางสาวปภาดา ศิริวรสิน
นายทะเบียน

สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี   ชั้

นางสาวมณพัช วาณิชสำราญ
สาราณียกร

สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในสายศิลป์ภา

นางปติมา รัชตะวรรณ
ประชาสัมพันธ์

สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิ

นายชัยจักร ทวยุทธานนท์
ประชาสัมพันธ์

เป็นชาวกาฬสินธุ์ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทย